Aldous Huxley – Brave New World

Brave New World เป็นงานเขียนของอัลดัส ฮักซ์ลีย์ ว่าด้วยอนาคตในปี 632 “ฟอร์ดศักราช” ข้างหน้า
จุดเริ่มต้นของ “ฟอร์ดศักราช” นั้นนับมาจากความสำเร็จของเฮนรี ฟอร์ด ในการพัฒนารถฟอร์ด โมเดล ที ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตแบบสายพาน

“โลกใบใหม่ [A (brave) new world]” คือโลกแห่งอุดมคติ ผู้ควบคุมโลก (world controllers) ทั้งสิบคนได้ปกครองโลก “รัฐโลก” (world state) เพื่อสันติสุข
พันธุวิศวกรรม การปลูกฝังจิตใต้สำนึก และการใช้สารเสพติดชื่อว่า “โซมา” ที่ไม่มีผลข้างเคียง ทำให้โลกใบใหม่ใบนี้เป็น “โลกวิไลซ์”* ที่ผู้คนต่างอยู่อย่างไร้ซึ่งทุกข์

เบอร์นาร์ด มาร์ซ วิศวกรชนชั้นแอลฟา-พลัส เป็นหนึ่งในตัวละครหลักในเรื่องนี้ เขาเกิดมาบนโลกนี้พร้อมความผิดพลาดบางประการ ทั้งส่วนสูงที่ไม่เท่ากับคนในชนชั้นเดียวกัน และความฉุนเฉียว (ซึ่งผู้คนลือกันว่าเกิดจากความผิดพลาดขณะฟัก ที่พนักงานฉีดยาเผลอฉีดแอลกอฮอล์ซ้ำ ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของเขาสูงกว่าคนปกติ) เพื่อนคนเดียวของเขาคือกวีชื่อเฮลม์โฮลตซ์ วัตสัน ผู้ซึ่งรู้สึกว่าบทกวีของเขาไม่สามารถบรรยายทุกข์ในโลกที่ไร้ซึ่งทุกข์ได้

นอกเขตปกครองของรัฐโลก เป็นเขตที่ผู้คนในรัฐโลกรู้จักในนามของ “เขตอนุรักษ์พันธุ์ชนชั้นป่าเถื่อน” (savage reservation) ที่ซึ่งผู้คนอยู่อย่างไร้อารยธรรม เกิด แก่ เจ็บ และตาย ไม่มีความสุข ป่าเถื่อนและล้าหลัง
ที่นั่น มาร์ซได้เจอกับเด็กชายนามว่า “จอห์น” — บุตรอันเกิดจากความผิดพลาดของผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า “ลินดา” ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในรัฐโลก ก่อนที่จะพลัดหลงกับคณะขณะเธอมาเที่ยวเขตอนุรักษ์นี้ ที่นี่ ลินดาตั้งท้องกับชายนามว่า “โทมาคิน” และการที่เธอท้องนั้นเองทำให้เธออับอายกว่าที่จะคิดกลับไปที่รัฐโลก
ปมหลักของเรื่องนี้เกิดขึ้นเบอร์นาร์ดพาจอห์น และลินดากลับไปที่รัฐโลก ตามคำสั่งของผู้ควบคุมโลก เพื่อศึกษาพฤติกรรมของการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ของมนุษย์

 

[spoilers ahead]

สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า Brave New World แตกต่างจากนิยายดิสโทเปียนทั่วไป โดยหลักนั้นเกิดจากการถ่ายทอด ซึ่งเลือกถ่ายทอดผ่านการเข้าไปสู่สังคม “ศิวิไลซ์” ของจอห์น — แตกต่างจากวิธีการเล่าเรื่องโดยทั่วไปของนิยายแนวนี้ ที่มักพูดถึงการพบเจอธรรมเนียมดั้งเดิมก่อนสังคมจะศิวิไลซ์

การถ่ายทอดแนวคิดของสังคมสมัยเก่าในหลายๆ ส่วน ผ่าน “เขตอนุรักษ์พันธุ์ชนชั้นป่าเถื่อน” ทำให้ภาพของความแตกต่างกันแบบสุดขั้วของสังคมสองสมัยปรากฏขึ้นมาได้พอชัดเจน ภาพของชนเผ่าอินเดียนแดงในเขตอนุรักษ์ฯ และภาพของประชากรโลกใหม่นั้นให้เฉดที่แตกต่างกันมาก (in a high contrast)
การดำเนินเรื่องในช่วงหลังโดยมีจอห์นซึ่งเป็นมนุษย์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคนสองยุค ทำให้เห็นภาพของความสุตโต่งที่พบในโลกใหม่ ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้โดยผู้ที่อยู่ในระบบสังคมนั้นจนชิน — เป็นการดำเนินเรื่องที่ฉลาด และเฉียบคมอยู่ไม่ใช่น้อย

ปมของเบอร์นาร์ด มาร์ซตอนต้นเรื่อง แม้ส่วนตัวจะรู้สึกว่ากินระยะเวลานานมากในการพรรณนาก่อนจะถึงปมหลัก (ซึ่งส่วนตัวมองว่าคือเรื่องราวของจอห์น) แต่ภาพของจอห์นในเขตอนุรักษ์ป่าเถื่อน และภาพของมาร์ซในรัฐโลก ก็เป็นภาพที่ทับซ้อนกันอยู่พอสมควร ทั้งคู่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่ตนอยู่ และปมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดมากขึ้นเมื่อภาพของรัฐโลกที่แม่ของจอห์นวาด (portrays) ไว้ให้ช่างต่างจากสิ่งที่เป็นจริงในมุมของเขาเสียเหลือเกิน

หากนับ We ของซามยาตินเป็นหนึ่งใน “ผู้บุกเบิก” นิยายแนวดิสโทเปียแล้ว งานของฮักซ์ลีย์ก็น่าจะตอบปัญหาของความมีอยู่ของ “รัฐอุดมคติ” ได้ชัดเจนขึ้น แนวคิดหลายๆ อย่าง (เช่น การสั่งสอนของรัฐให้คนทิ้งเสื้อผ้าที่ขาด แทนที่จะซ่อม เพื่อทำให้วงเวียนแห่งอุปสงค์ดำเนินต่อไป) ทำให้รู้สึกว่ารัฐอุดมคตินั้นอยู่บนพื้นฐานของความจริงมากกว่าความเป็นนิยาย

การอ่านบทเกริ่นนำของเดวิด แบรดชอว์ซึ่งอยู่ตอนต้นของหนังสือ** ทำให้ทราบชัดขึ้นว่า ฮักซ์ลีย์เห็นภาพการเติบโตซึ่งพลังอำนาจของสำรัฐอเมริกา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของลอนดอนและยุโรปในสมัยนั้นซึ่งเป็นยุคถดถอย และเป็นภาพเหล่านี้เองที่ฮักซ์ลีย์หยิบมาถ่ายทอดจนออกมาเป็นส่วนหนึ่งของแก่นของ Brave New World

ไม่ว่าจะอ่านโดยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของการส่งสาสน์ว่าด้วยความน่ากลัวของโลกดิสโทเปีย, มองเป็นโศกนาฏกรรมของจอห์น, หรือมองว่าเป็นการ “กระแนะกระแหน” สภาพของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น, Brave New World ก็เป็นหนึ่งในนิยายดิสโทเปีย ที่ถึงแม้จะไม่ได้ปลูกภาพของความน่ากลัวแห่งดิสโทเปียไว้ได้เท่ากับ 1984 แต่ก็ทำให้ภาพหลายๆ อย่างของมันชัดเจนและเป็นจริงมากขึ้น (more realistic and vivid).


* โลกวิไลซ์ ในที่นี้เป็นการเล่นกับชื่อหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย
** ฉบับที่จัดพิมพ์โดย Penguin Random House ในชุด Vintage Classic

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *