Author: srakrn

  • ฮักฮักเรียนจบ

    ฮักฮักเรียนจบ

    เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กส่วนตัว

    ผมเรียนจบแล้วฮ๊าฟฟฟ

    ตั้งแต่เด็กชายฮักสกีวิชยังไม่มาอยู่บ้าน พ่อกับแม่ก็ดูว่าจะส่งลูกไปโรงเรียนที่ไหน ตัดสินใจว่าอยากเลี้ยงลูกเชิงบวกเพราะอยากเลี่ยงการสร้างแผลใจในเค้า รวมถึงพฤติกรรมไม่ดีที่เป็นผลลบจากแผลพวกนั้น (เช่น โดนลงโทษถ้าอีไม่เป็นที่ ผลคือกินอึซ่อนหลักฐาน)

    ประจวบเหมาะพี่แคล Cal Komkanit แนะนำให้ไปหาคุณหมอปาล์ม Happy Howl – Dog Training and Behavioural Services by Vet ก็เลยไม่ลังเลที่จะไปหาคุณหมอ แค่ครั้งแรกก็รู้สึกว่าทำให้เข้าใจวิธีการมอง-การชวนลูกให้ไปเปิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ และเป็นเด็กดีของพ่อแม่ (หลักๆ อธิบายไวๆ คือเราให้ทางเลือกเค้าแหละ เค้าเลือกได้ แค่ถ้าเค้าเลือกทางที่เราชอบ เค้าก็จะได้รางวัลอย่างงาม)

    ฮักน่าจะเป็นหมาที่เรียนจบช้าที่สุดแล้ว เพราะคอร์สห้าครั้ง ลากไปได้ห้าเดือน 🥲 ติดวิบากกรรมป่วยทางเดินอาหารยิบย่อย รวมถึงมีเป็นซ้ำด้วย พอทางเดินอาหารไม่ปกติ ก็มีพฤติกรรมที่พ่อไม่ชอบเพิ่มหนึ่งอย่าง คือกินอึ เป็นนิสัยที่พ่อไม่ชอบ แบบที่ทำงานกับใจพ่อมันในเชิงลบมากที่สุด, ก็เพิ่งมาปลดล็อก และวางใจลงได้ไม่นานนี้เอง หลังจากคุยกับคุณหมอนี่แหละ

    ดีใจมากที่ได้มาเจอคุณหมอปาล์ม, หมาเราเป็นหมา ไม่ใช่หุ่นยนต์ รู้สึกได้เข้าใจ ได้ให้เค้าเป็นในสิ่งที่อยากเป็น และได้ขอให้เค้าเป็นในบางสิ่งที่เราอยากให้เป็น ต้องขอบคุณฮักด้วยส่วนนึงที่เป็นหมาที่น่ารักสำหรับเราโดยธรรมชาติ ซึ่งพอมาออนท็อปด้วยมุมมอง-ความเข้าใจ ที่คุณหมอปาล์ม “ชวน” ให้ได้สังเกต และพาตัวเองไปเจอกับข้างในของลูก ก็รู้สึกว่าลูกเราน่ารักขึ้นไปอีก และเราก็คงเป็นพ่อแม่ที่ดีให้ฮักฮักขึ้นได้ในแต่ละวัน

  • ฮักฮัก

    ฮักฮัก

    เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กส่วนตัว

    ถ้าใครเคยได้คุยกับเราเรื่องการมีลูก คิดว่าจะพอเคยได้ยินจากปากเราว่าเราไม่กล้ามีลูก (ที่เป็นคนๆ) ด้วยเหตุผลหลายอย่างตั้งแต่ความเชื่อทางเศรษฐสังคม จนถึงความเห็นแก่ตัวในความสบายของ DINK

    แต่ในสิ่งที่เห็นด้วยตลอดเวลาในบทสนทนาเรื่องลูกกับใครก็ตาม คือการที่ความสัมพันธ์ของคู่รักถูกส่งผ่านไปอีกชีวิต นับเป็นเรื่องสวยงาม

    การตัดสินใจเลี้ยงสัตว์เป็นไดเลมม่า ทั้งในหลักคิดสำคัญว่าจะเลี้ยง/ไม่เลี้ยง จนถึงหลักการยิบย่อยที่ยึดถือ ความตั้งใจเดิมคือรับอุปการะหมา อยากได้ตัวผู้หญิง เพราะถ้าเป็นพ่อคน คงอยากมีลูกสาว ถักเปียให้ทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน

    แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจตามนั้นเลย เงื่อนไขชีวิตต่างๆ ทำให้สุดท้ายต้องเลือกคาวาเลียร์ คิง ชารล์ส สเปเนียล ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ที่ใช้เป็นสุนัขบำบัด และเลือกเพศผู้

    ขับรถไปรับกลับมาบ้าน ขาไปเต็มไปด้วยความกังวล แต่ขากลับสิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือน้ำตาค่อยๆ ไหลลงมา ถึงจะเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่คิดว่าพอเข้าใจแล้วว่าชีวิตที่เราเลือกดูแล ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและจิตใจของเราได้เพิ่มอย่างไรบ้าง

    น้องชื่อว่า ”ฮักฮัก“ จะอ่านเป็น ”ฮัก“ หรือ “hug” ก็ได้ วันแรกของการมาอยู่บ้าน เจอว่านอนอยู่ท่านี้ เห็นเขาว่าแปลว่าสบายใจอย่างถึงที่สุด แล้วก็อุ่นใจ

    Let there be love.

  • ประสบการณ์ ReLEx SMILE (ผ่าแก้สายตาสั้น)

    ประสบการณ์ ReLEx SMILE (ผ่าแก้สายตาสั้น)

    (Featured image courtesy of Zeiss)

    ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

    • บทความนี้ไม่ได้รับการตอบแทนในรูปแบบใด ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงส่วนลด เงิน สิ่งแทนเงิน หรือสิ่งของ
    • บริการที่ปรากฎในบทความนี้ได้รับโดยการจ่ายเงินจากผู้โพสต์เองทั้งสิ้น
    • บทความนี้ไม่ได้รับการทวนสอบโดยแพทย์​ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์​ ผู้เขียนไม่รับประกันความถูกต้องของเนื้อหา

    ได้เรื่องเขียนบล็อกสักที!

    เมื่อเร็วๆ นี้ไปผ่าตัดแก้สายตาสั้นมา สรุปลงเอยที่ผ่า ReLEX SMILE กับอาจารย์ตุลยา ตั้งศิริพัฒน์ ที่ศูนย์ตาท็อปจักษุ แถวปากเกร็ด

    ผ่านมาได้ไม่กี่วันก็ซ่าแล้ว และนี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

    ผ่าทำไมก่อน

    นั่นสิ คนเราจะอยากผ่าตาทำไม

    สายตาเราสั้นไม่น้อย แต่ก็ไม่เยอะ (ข้างละประมาณ​ 500) และมีเอียงผสมนิดหน่อย ดังนั้นมองอะไรไกลๆ ไม่ชัดเลย

    คำตอบมีแค่ว่า “อยาก”​ ใส่แว่น แต่ไม่อยาก “ต้อง”​ ใส่แว่น คือรู้สึกว่าแว่นเนี่ย ใส่แล้วมัน charismatic ดี แต่อยากมีโมเมนต์ถอดแว่นกับเค้าบ้าง ไม่อยากตื่นมาตอนเช้ารีบๆ แล้วต้องหาแว่นใส่ก่อน อะไรประมาณนี้

    ถ้าไม่นับปัญหานี้แล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับแว่นเลย โชคดีที่ปกติตัดแว่นกับร้านที่เชื่อใจ เชื่อมือ และแว่นออกมาคุณภาพดีตลอดอยู่ด้วยแล้ว (แว่นตาแปซิฟิก ตรงอนุเสาวรีย์ชัย)

    วันดีคืนดีคุยกับพี่วิ HR สุดน่ารักจากที่ทำงาน พี่วิแนะนำแค่ว่า “ผ่าเถอะ ดีจริง” แล้วด้วยความที่มั่นใจว่าเราอายุยังน้อย แต่สายตานิ่ง ไม่เปลี่ยนแล้ว ก็เลยคิดว่าเอาวะ ผ่าเลยแล้วกัน

    หาที่ผ่า และวิธีผ่า

    พยายามจะ rule in-out วิธีผ่าต่างๆ ออกจากกัน ปกติแล้ววิธีการผ่าสายตามีหลายแบบ แต่ย่อยเหลือได้แค่ประมาณนี้

    • LASIK
      • เปิดรอบดวงตาเป็นวงกลม ยาวๆ เกือบครบวงกลม
      • เฉือนกระจกตาชั้นกลางออกมา
      • ทีนี้ จะเปิดยังไง (ใช้มีดหรือเลเซอร์) จะเฉือนยังไง (ใช้มีด เลเซอร์ แสงต่างๆ) อันนี้นี่แหละที่จะทำให้ราคาต่างกันออกไป
      • ส่วนตัวเลือกได้ ขอไม่เปิดกระจกตาดีกว่า ยังอยากถือ pilot licence ได้ (ถ้าเข้าใจไม่ผิด LASIK แล้วจะมีปัญหา)
        • ถ้าคนที่บริษัทมาอ่าน เดี๋ยวผมเป็นนักบินรายต่อไปของบริษัทเองครับ อิ____อิ
    • PRK
      • ลอกกระจกตาแทนการเฉือนกระจกตา
      • แต่จะมีแผลบนดวงตาเป็นวงกลมกินพื้นที่เยอะๆ ไม่ใช่แค่แผลเปิดเอากระจกตาออกมา
      • เค้าบอกว่าทนกว่าวิธีอื่นสุดแล้ว นักบินทำวิธีนี้กัน แต่เจ็บสุด หายยากสุด
      • rule out ทันทีเพราะช่วงนี้งานเดือด ลายาวๆ ยาก
    • ReLEx
      • ใช้เลเซอร์ตัดกระจกตาเป็นเลนส์ส่วนเกิน
      • เปิดแผล 2-4mm แล้วเอาเลนส์ส่วนเกินนั้นออก
      • ดูเป็น compromise ระหว่างสองวิธีแรกดี
      • อย่างเดียวที่ไม่ compromise คือกระเป๋าสตางค์ ทำครั้งเดียวอาจจะทำวิธีบนๆ ได้สองคน
      • ทีนี้ ReLEx เป็นชื่อวิธีผ่าตัด แต่ SMILE, CLEAR เป็นชื่อการค้า เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กับมาม่า ไวไว โรงพยาบาลมีเครื่องยี่ห้อมาม่า อีกโรงพยาบาลมีเครื่องยี่ห้อไวไว
      • แต่ปกติที่เราเห็นกันก็จะเป็น ReLEx SMILE ใช้เครื่องของ Zeiss ซึ่งหมอบางคนบอกว่าเครื่องของ Zeiss เป็นเครื่องเดียวที่ FDA approved (หรือ cleared) ให้ใช้ในการผ่าแบบนี้ (ไม่ใช่แบบที่ใช้เลเซอร์ทำ LASIK)
    • ICL
      • ใส่เลนส์เสริม กรณีโน่นนี่นั่นบางเกินกว่าจะถูกเฉือนออกไป
      • โ ค ต ร แ พ ง ยิ่งกว่า ReLEx

    สรุปก็เลยทำ ReLEx SMILE เพราะจ่ายไหว แผลเล็ก เผื่อใครยังนึกภาพไม่ออก วิดีโอนี้ทำให้เห็นภาพได้ดี

    ทีนี้ก็ได้เวลาเลือกที่ทำ

    • TRSC
      • ตอนแรกว่าจะทำที่นี่เลย เข้าเว็บไปแล้วประทับใจมาก โห ข้อมูลมีครบหมด
      • เทียบราคากับที่อื่นแล้ว rule out ทันทีจ้า
    • รพ.จุฬา
      • ตั้งใจว่าจะทำที่นี่
      • แต่เห็นรีวิวของพี่ชิน (ประสบการณ์ทำ ReLEx SMILE ณ รพ.จุฬาฯ (cloudian.in.th)) บอกว่าต้องตรวจและทำแยกกันพักนึงเลย
      • ไม่อยากไปกลับนนทบุรีกรุงเทพบ่อยๆ มันเหนื่อย (โดยเฉพาะถ้าขับรถไม่ได้) ก็เลยเลือกที่จะไม่ทำที่นี่ดีกว่า
    • สมิติเวชไชน่าทาวน์
      • ดูดีเลย ราคาไม่ได้แรงกว่าโรงพยาบาลจุฬามาก
      • ทำเสร็จมีห้องพักให้นอนหนึ่งคืนด้วย จ่ายเพิ่มจากจุฬานิดหน่อย (ที่แปลว่าก็เยอะอยู่) แต่แลกกับสะดวกก็โอเคแหละมั้ง
      • ทำเสร็จฝากรถไว้แล้วขอไปกินข้าวเยาวราชหลังออกจากโรงพยาบาลคืนนึงได้ไหม…
    • ศูนย์ตาท็อปจักษุ
      • เอ้ย ใกล้บ้านดี นั่งรถไฟฟ้าชิลๆ 30 นาที
      • ถูกที่สุดในสามที่ที่ผ่านมา ReLEx บางวันมีโปรเหลือ 79,000 รวม pre-op check และ f/u 5 ครั้งด้วย
    • โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
      • น่าจะถูกที่สุดในประเทศ ที่ 74,000 ไม่รวมตรวจอื่นๆ
      • แต่ไม่อยากขับรถนนทบุรีนครปฐมไป follow up
      • ถ้ายังอยู่บ้านพ่อแม่ที่นครปฐม ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ทำที่นี่

    ก็เลยตกลงไปทำที่ศูนย์ตาท็อปจักษุ

    วันตรวจตาก่อนผ่า (work-up)

    ของเราตั้งใจตรวจและผ่าตาคนละวัน ตรวจวันพุธ​ ผ่าวันศุกร์ถ้าผ่าได้

    ไปตรวจตาทำอะไรบ้าง

    • วัดค่าสายตา พร้อมกับต้องตอบคำถามให้ได้ว่าสายตานิ่งหรือยัง ของเรามีเลขจากแว่นตาและร้านตัดแว่นตาไปให้ช่วยดู
    • วัดความดันลูกตา จะมีเครื่องเป่าลม ปุ๊! ปุ๊! ปุ๊! (สามรอบ) เข้าลูกตา สะดุ้งอยู่
    • วัดปริมาณน้ำตา เอากระดาษกรองมาเสียบไว้ตรงใต้ตา มันจะระคายเคือง แล้วน้ำตาไหล ทิ้งไว้แป๊บนึงแล้วดูว่าน้ำตายาวเท่าไหร่บนกระดาษกรอง
    • วัดความหนากระจกตา จะมีเครื่องปล่อยแสงสีฟ้าๆ หมุนๆ ต้องจ้องตาไว้ให้นิ่งๆ

    จำได้แค่นี้ แต่กระบวนการตรวจนานมากๆ น่าจะกินเวลาถึง 2-3 ชั่วโมงเลย

    ก่อนวัดความหนากระจกตา (มั้ง) ต้องหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งเข้าใจว่าจะทำให้สู้แสงไม่ได้ และแน่ๆ คือจะมองใกล้ไม่ได้ไปแป๊บนึง ไม่แนะนำให้ขับรถมาเอง และพกแว่นดำไปใส่กลับบ้าน สบายใจดี

    ตรวจเสร็จก็มีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง สรุปคือโอเคทุกอย่าง กระจกตาหนากว่าคนปกติพอสมควร (ของเรา 600 กว่าไมครอนมั้ง ถ้าจำไม่ผิดควรอยู่ 500 กลาง) น้ำตาผ่านเกณฑ์เลขสองหลัก

    และเจ้าหน้าที่ก็ brief กระบวนการการผ่าคร่าวๆ ให้ ว่า ReLEx SMILE ต้องใช้ความร่วมมือจากคนไข้ ในการทำตาให้อยู่นิ่งๆ ให้ไปดูวิดีโอของคุณหมอแนะนำขั้นตอนการผ่านิดนึง ก่อนเจอหมอ (ซึ่งเราก็ดูไปรอบนึง ถึงจะดูและอ่านรีวิวทั้งไทยและเทศมาเกิน 20 ฉบับแล้วก็ตาม)

    ทีนี้ก็เหลือมาให้หมอส่องตารอบสุดท้าย

    เจอคุณหมอ

    หลังจากตรวจตาเสร็จ ก็ได้เข้าไปคุยกับคุณหมอ คุณหมอส่องตาแล้วบอกว่าโอเคเลย ไม่มีปัญหา ผ่าได้ ทุกอย่างสวย

    คุณหมอย้ำว่า compliance คนไข้สำคัญมากๆ ต้องทำตาให้อยู่นิ่งๆ ในเครื่องได้ ~30 วินาที ต้องไม่ขยับ ต้องมองจุดแสงนิ่งๆ และไม่ขยับแม้แสงจะหายไปแล้ว

    ก่อนออกไป ถามคำถามที่สำคัญที่สุดกับคุณหมอ ว่า “เอาตุ๊กตาเข้าห้องผ่าตัดได้ไหม” หมอบอกว่าได้

    เรียบร้อย กลับบ้าน วันนี้ยังไม่มีค่าใช้จ่าย

    Pre-op anxiety

    คืนก่อนผ่าความกลัวมาเยือน เพราะว่าถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะหัดจ้องนิ่งๆ มาพักนึงแล้วก็ตาม แต่คืนก่อนผ่าก็กลัวจ้องได้ไม่นิ่งพอ

    ไปนั่งหารีวิวอ่านต่างประเทศเพิ่มอีก ว่าถ้าตาดุ๊กดิ๊กเล็กน้อย มันมีปัญหาไหม คำตอบคือไม่ค่อยน่ากังวล เพราะเครื่องเลเซอร์ detect ตาเราถี่มากๆ อยู่แล้ว ถ้ามันเจอตาเราหลุดไปไหน มันหยุดเลเซอร์ต่อทันที และตัวมันเอง compensate การขยับเล็กๆ เราได้

    ทำใจให้สงบ นอน

    วันผ่าตัด

    บิบิ M และบิบิ L

    วันผ่าตัดจะมีข้อกำหนดเรื่องการปฏิบัติตัวอยู่ ใดใด อาจจะต่างกันไป แต่หลักๆ คืองดสเปรย์ น้ำหอม แต่งหน้า ใส่เสื้อมีกระดุมหน้า

    พาบิบิ L ซึ่งเป็น spiritual animal (และเป็นตัวแทนของบิบินับตัวไม่ถ้วนที่เลี้ยงดูอยู่) ไปผ่าตัดด้วย

    วันผ่าตัดจะมีตรวจตาอีกครั้ง เข้าใจว่าตรวจสายตาเพื่อ final cross-check ว่าตาจะออกมาเป็นแบบนี้ มีแว่นให้ลองใส่หนึ่งอันว่ามองชัดไหม

    มีเซ็นเอกสารที่เป็น consent form ระบุรายละเอียดต่างๆ ซึ่งท่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับเราคือระบุว่าถ้า ReLEx แล้ว “suction lost” (เจอว่าตาขยับ) จะต้องเปลี่ยนเป็นไปทำวิธีอื่นทันที (ซึ่งไม่อยากทำ) แล้วก็ทำพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดคือรูดบัตรจ่ายเงินที่ 79,120 บาทถ้วน (120 บาทค่าบริการโรงพยาบาล)

    เสร็จแล้วก็เข้าห้องเตรียมผ่าตัด บอกพยาบาลห้องผ่าตัดว่าขอเอาตุ๊กตาเข้าไปอีกรอบ พยาบาลกังวลว่าตุ๊กตาตัวใหญ่แค่ไหน พอหยิบออกจากกระเป๋าให้ดูก็ยิ้ม แล้วบอกว่าพาเข้ามาได้เลย

    สวมชุดผ่าตัดทับชุดที่ใส่มา (ซึ่งแนะนำให้ใส่ชุดแขนยาวมา อากาศอาจจะเย็นนิดนึง) แล้วก็นั่งพักผ่อนสักพักนึง พยาบาลเอายาแก้กังวลมาให้กินก่อนหนึ่งเม็ดพร้อมกับพารา เสร็จแล้วก็เริ่มทาฆ่าเชื้อทั้งหน้า และหยอดยาชาเข้าตา

    พอถึงเวลาได้ยินคุณหมอบอกว่า “พร้อมนะ”​ ก็ตอบไปว่าพร้อมครับ คุณหมอช่วย reassure ว่า “ไม่ต้องกังวล เราอยู่ด้วยกันตลอด” และแถมให้ด้วยว่าเพราะเราผ่าคนแรกของวัน และมาก่อนเวลานัด เรามีเวลาอยู่ด้วยกันหนึ่งชั่วโมงยาวๆ ถ้ากังวล ถ้าไม่สบายใจอะไร มีเวลาคุยกันตลอด

    เสร็จแล้วก็เข้าห้องผ่าตัดกับเหล่าคุณผู้ช่วยไปก่อน

    Image courtesy: Zeiss, Fair Use

    เครื่องผ่าตัดจะเป็นแบบนี้ เครื่องขวาเอาไว้ทำอะไรไม่รู้ แต่เราจะใช้กันเฉพาะเครื่องซ้ายที่เป็นเครื่องเลเซอร์ เราจะนอนลงก่อน แล้วจะหมุนเตียงเข้าไปใต้เครื่อง

    คุณผู้ช่วย (ผู้ชาย เสียงนุ่มๆ) ช่วยมา calm เราแล้วบอกว่า เรามีสามอย่างที่จะต้องช่วยกัน

    • ความกลัว ห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นปล่อยไป สัญญาว่ายังไงอยู่ด้วยกันตลอด ต้องทำอะไรบ้าง จะมีเจ้าหน้าที่บอกอยู่ใกล้ๆ อยู่แล้ว
    • เจ็บ ไม่ต้องกลัวเลย อัดยาชาเต็มที่อยู่แล้ว
    • compliance คือเรื่องเดียวที่ขอ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือจ้องแสงเลเซอร์ และจ้องจนกว่าเจ้าหน้าที่จะบอกว่าหยุด ห้ามขยับตา
    Image courtesy: Zeiss, Fair Use

    เครื่องจะประกอบไปด้วยสอง “หัว”​ ละกัน

    หัวแรก (หัวดำๆ ในภาพ) คือหัวที่หมอเอาไว้ส่องตา เวลาคีบชิ้นเนื้อออก มีไฟสีขาวๆ ช่วยให้แสง

    หัวที่สอง (ตรงสีฟ้าๆ) อันนั้นแหละคือหัวเลเซอร์ที่จะมาจุ๊บตาเราตอนทำ

    คุณเจ้าหน้าที่เลื่อนเตียงไปใต้หัวแรก บอกว่ามาซ้อมกันก่อน มองไฟสีขาวไว้นิ่งๆ แล้วก็ทดสอบ reflex เรา เอานิ้วมาวนๆ (ว่าไม่กรอกตาตาม) มาจิ้ม (ดูว่าสะดุ้งไหม)

    “โห นิ่งมาก ไม่ห่วงละ”​ คุณเจ้าหน้าที่บอกแบบนี้ ซึ่งเราสบายใจไปมาก

    สักพักนึง คุณหมอเดินเข้ามา คุยกันว่าพร้อมนะ แล้วก็มาคุยกับเรา เจอเรากอดตุ๊กตาไว้ในมือข้างนึง

    “นี่เหรอตุ๊กตาที่บอกจะพามาด้วย”
    “ใช่ครับ”
    “น้องชื่ออะไรเอ่ย”
    “แทนครับ”
    “น้องแทน…​ หมายถึงน้องตุ๊กตานี่นะ ชื่ออะไรคะ”
    “อ๋อ ชื่อบิบิครับ 555555”
    “น่ารักๆ กอดมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่าคะเนี่ย”
    “มากอดตอนโตนี่ละครับ 55555555555”

    ขำกันรอบวงห้องผ่าตัดหนึ่งกรุบ

    ก่อนผ่าจริงมีทวนชื่อและนามสกุล คุย cross-check กันเต็มไปหมด (น่าจะเพื่อตั้งค่าเครื่อง)

    เสร็จแล้วก็ผ่า เริ่มจากผ่าตาขวาก่อน

    มีกระดาษมาปิดตาซ้าย เทปกาวมาติดหนังตา แล้วก็อะไรสักอย่างมาถ่างตาขวาไว้ ซึ่งเราจะกระพริบไม่ได้แล้ว (แม้ว่าจะกังวลว่าโดยธรรมชาติเราเป็นคนกระพริบตาบ่อยแค่ไหนก็ตาม)

    ใจสั่นมาก หมอค่อยๆ เอาหัวเลเซอร์มาจุ๊บตาเรา เราเห็นแสงสีเขียวกลางตา หมอบอกว่าดีมาก นิ่งนะ เสร็จแล้วก็เริ่มให้เลเซอร์ทำงาน พี่พยาบาลมาจับแขนเรา แล้วค่อยๆ ปลอบ

    เราจะรู้สึกเหมือนมีหมอกเกิดขึ้นจากขอบตา ไล่มาตรงกลางตา พอไล่มาปุ๊บ เลเซอร์จะหายไป แน่นอน ห้ามขยับ จนกว่าหมอจะบอกว่าเสร็จ

    ดูวิดีโอว่าในตารู้สึกประมาณไหนได้ที่นี่ 1:20

    เราเกร็งมาก เกร็งทั้งตัว แต่ตาพยายามให้ไม่ขยับเลย กอดบิบิไว้แน่นมากๆ รู้ตัวอีกทีก็เสร็จแล้ว

    “ดีมาาาากกกกกก” หมอบอกหลังขยับตัวเราออกจากหัวเลเซอร์ มาคีบชิ้นเนื้อตาออก

    วิธีการช่วยหมอเวลาคีบเนื้อตาออก คือหมอจะบอกว่าให้เราจ้องไฟสีขาว แล้วถ้าไฟขยับ (ที่แปลว่ามัน distort แสง เพราะมีอะไรบางอย่างกำลังโดนดึงออกจากตา) ห้ามขยับตาม ตรงนี้ทุลักทุเลนิดนึงเพราะเราเผลอขยับตาม แต่ไม่ใช่ท่อนที่เลเซอร์ทำงาน​ ซึ่ง critical ที่สุด

    หลังจากนั้นก็มาต่อตาซ้าย เราโล่งใจไปเยอะมาก เพราะคิดว่าตาขวาเราช่วยหมอได้ดี

    ปรากฎว่าตอนจุ๊บกับตาขวา เรารู้สึกว่าแสงสีเขียวที่ว่าเนี่ย มันไม่ได้อยู่ตรงกลางตาเรา แล้วพอเราพยายามขยับไปมองเลเซอร์ มันก็ขยับหนีเรา (ทั้งหมดเกิดขึ้นตอนที่ยังไม่ได้ยิงเลเซอร์จริงๆ)

    หมอเห็นท่าไม่ดี หมอถอนหัวจุ๊บเลเซอร์ออก ถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า เราอธิบาย แล้วหมอก็บอกว่าโอเค งั้นลองใหม่ จุ๊บหัวเลเซอร์ลงตาเราใหม่

    ซึ่งปัญหาเดิมก็ยังอยู่ คือแสงเขียวๆ มัน off ไปทางขวาเรา แต่มีจุดนึงที่เรามองแล้วแสงมันไม่ขยับตาม คือมองเหลื่อมไปทางซ้ายเลเซอร์นิดๆ หมอบอกว่าจุดนี้ดีมากๆ อยู่ให้ได้นิ่งๆ ก็พอ ตกลงกับหมอว่าโอเค เลเซอร์ทำงานเหมือนเดิม

    เรียบร้อย เกร็งเหมือนเดิมอีกข้าง และทำเสร็จไปอีกข้าง คีบเลนส์ออกซึ่งรู้สึกว่าตอนเลเซอร์ทำได้ดีมาก แต่ตอนคีบออกช่วยหมอได้ไม่ดีเหมือนเดิม

    หลังจากนี้จำอะไรไม่ค่อยได้ แต่รู้สึกว่าได้รับคำชมจากเจ้าหน้าที่ทั้งห้องผ่าตัด รวมถึงคุณหมอ เสร็จแล้วก็หมุนเตียงกับคืนที่เดิม

    พอลุกออกจากเตียง สิ่งที่เห็นคือทุกอย่างเหมือนแว่นขึ้นฝ้า แต่มันเห็นขอบผนัง ขอบเพดานชัด!!! ซึ่งเราหัวเราะออกมาเลย แบบ 5555555555555 นี่คือ first step to HD vision สินะ

    ออกมา คุณหมอตรวจตาเสร็จ แล้วก็ไปเตรียมกลับบ้าน

    ยาชาหมดฤทธิ์

    ตอนผ่าเสร็จไม่เจ็บเลย สบายมาก และเร็วมากด้วย เร็วจนเสร็จก่อนเวลาที่นัดคนมารับเอาไว้

    ทีนี้แหละ ผ่านไปสักพัก ยังไม่ทันมีคนมารับ ยาชาหมดฤทธิ์ เจ็บ น้ำหูน้ำตาไหลพรากๆ

    ทุกการผ่าตัดเป็นแบบนี้จริงๆ ออกมาจากห้องจะซ่าเลย พอยาชาหมดเท่านั้นแหละ ร้องเป็นหมา (ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้ามีผ่าฟันคุด และเล็บขบมาแล้ว แต่ผ่าตานี่เจ็บน้อยสุดเทียบกับสองอย่างที่ว่ามาหลังยาชาหมดนะ ไม่เรียกเจ็บด้วยซ้ำ เรียกแสบ)

    คนมารับ กลับบ้าน กินยา นอน

    นอนไปได้สักพักก็ตื่นมา ตื่นก็หยอดน้ำตาเทียม ฟัง podcast ไปเรื่อยๆ (Pro tip: เตรียม podcast รอไว้ยาวๆ เลย ของเราได้ฤกษ์ฟัง “30 ยังจ๋อย” ตอนของพี่เอิ๊ต ภัทรวี กับพี่แชมป์ ทีปกร แล้วก็ Lateral ของ Tom Scott)

    ภรรยากลับมาจากทำงานต่างจังหวัด เช็ดตา ดูแล ปิดตาให้ แล้วก็นอน

    ทำไมต้องเช็ดตา คำตอบง่ายๆ เลยคือดวงตาคู่นี้จะโดนน้ำไม่ได้ไปอีกหลายวันพอสมควร และตอนนอนต้องใส่ฝาครอบตา ช่วยไม่ให้เผลอไปขยี้ตา

    ระหว่างนี้วันแรกต้องหยอดน้ำตาเทียมอัดๆๆๆ ไว้ทุก 15 นาที และหยอดยาฆ่าเชื้อวันละสี่เวลา

    หมออาจจะ prescribe น้ำตาเทียมต่างยี่ห้อกันไป แต่ของเราใช้ Vislube ซึ่งได้ยินว่าแพงกว่ายี่ห้ออื่น ตอนเปิดฝาทำหยดลงมือหนึ่งหยด แล้วพบว่ามันเหนียวหนืดมาก น่าจะช่วยให้ตาชุ่มได้ยาว

    วันที่สอง

    เค้าบอกวันนี้ใช้สายตาได้แล้ว แต่ก็พยายามจะเพลาๆ อยู่ก่อนละกัน ที่สำคัญคือใส่แว่นดำออกจากบ้าน (กราบขอบพระคุณคุณพ่อ ให้ขโมย Ray-Ban พับได้มาใช้ พกสะดวกมากๆ)

    อ้อนคุณภรรยาหน่อย

    ไปตรวจตา ไม่มี concerns อะไรเป็นพิเศษ​ กลับมาหยอดยาและน้ำตาเทียมกันต่อไป

    น้ำตาเทียมเหลือหยดชั่วโมงละครั้ง

    เป็นไงแล้วบ้าง

    มองไกลๆ คมมาก แต่มองใกล้ๆ ได้ไม่ดีเท่าตอนสายตาสั้น เหมือนเสียพลัง super vision

    เจอ glow รอบแสงสว่างๆ เช่นอย่างตอนเขียนบล็อกนี้ก็เหมือนมีคนใส่ outer glow ให้ text กับถ้าเป็นหลอดไฟสว่างๆ มากๆ ก็จะเห็นแสงเป็นแฉกๆ เพิ่มขึ้นไปอีก

    ให้ดูเอ็มวีนี้ไว้ แสงฟุ้งๆ แบบนี้คือแสงที่เห็นจริงๆ

    ใส่แว่น

    เหมือนที่บอก “อยาก”​ ใส่แว่น แต่ไม่อยาก “ต้อง”​ ใส่แว่น

    สั่งแว่นกรองแสงอันละไม่กี่ร้อยมา แล้วก็พบว่าเออ แฮปปี้มั้ง แต่ใส่แล้วขอบโน่นนี่ที่มองเห็นมันฟุ้งขึ้นเล็กน้อย

    เลยไปเดิน Ophtus สยาม พบว่าแว่นแพงก็เจอขอบฟุ้งขึ้นเล็กน้อยเหมือนกัน แต่แฟนบอกว่าเป็นแว่นที่ใส่แล้วทำให้เป็นหนุ่มแว่นที่ดีมีแต่คนเคลมว่าแว่นใช้ดีอยู่ เลยจัดมาอีกคู่

    สรุปตอนนี้มีแว่นสี่คู่: แว่นกันแดดหนึ่ง แว่นเหลืองทำงานหน้าจอคอมหนึ่ง แว่นทรานซิชันส์ออกแดดแล้วมืดหนึ่ง และแว่นตัดแสงธรรมดาที่เลนส์ไม่เหลืองหนึ่ง

    ทั้งหมดคนละทรง อยากเปลี่ยนลุคก็จิ้มๆ มาใส่เอา…

    สรุป

    release blog ออกมาก่อน เพราะว่าตอนนี้หลังทำแค่สองวันก็รู้สึกดีมากๆ แล้ว และกลับมาใช้สายตาได้เร็วกว่าที่คาด (ถึงจะพยายามเพลาๆ ให้ได้อยู่ก็ตาม)

    หลังจากนี้ก็ follow up 1 สัปดาห์, 1 เดือน, 3 เดือน, และ 6 เดือน (รวมกับ 1 วันหลังทำแล้วก็เป็น 5 ครั้งถ้วน)


    Update 1: ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์

    หมอบอกโดนน้ำได้แล้ว ยังเห็นแสงฟุ้งๆ อยู่ ซึ่งปกติ

  • โลกที่บังคับให้คนสำเร็จเร็วขึ้น

    พอถึงวัยอายุ X ปี คนจะเลิกตัดสินเราจากศักยภาพและอนาคต หันมาตัดสินจากประสบการณ์และความสำเร็จที่ผ่านมา”

    วลีข้างต้นเป็นความรู้สึกที่อยู่กับตัวเองมานานแสนนานแล้ว แต่เจอคนที่เขียนวลีประมาณนี้ออกมาเป็นคำเมื่อไม่เกิน 6-7 ปีที่แล้ว (จำไม่ได้ว่าใคร แต่อยากขอบคุณ)

    ส่วนตัวมองว่าค่า X ในวลีดังกล่าว ลดลงขึ้นทุกวัน

    มองตัวเองในวันนี้ วันที่อายุ 26 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าคนไม่ได้มองหาศักยภาพในตัวเราอีกต่อไป แต่ดูว่าเราผ่านความสำเร็จอะไรมาบ้าง

    และสำหรับคนรุ่นหลังจากนี้อีก อาจจะเจอว่าเลขนี้ลดลงมาเหลือ 25-24-23… ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ในแง่ที่ว่า บนโลกที่เวลาไหลไม่ย้อนกลับ และผู้คนต่างโหยหวนที่จะครอบครองทรัพยากรที่มีจำกัด การเริ่มก่อนก็ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด

    แต่เราจะอยากอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า เพราะส่วนตัวคิดว่านี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดี

    ขออนุญาตแทงไว้ว่า วันใดที่เลขนี้แตะ 22 (เท่ากับอายุของเด็กจบใหม่ป.ตรี ในหลักสูตรสี่ปี) ความระส่ำระส่ายจะเกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา บีบให้สถาบันที่ผลิตเด็กที่ “สำเร็จแล้ว” อยู่รอดต่อไปได้ และสุดท้ายจะกลายเป็นแหล่งผลิต “มนุษย์โรงงาน” สมัยใหม่

    ความระส่ำระส่ายนี้จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ นักเรียนมัธยมจะแก่งแย่งแข่งขันเข้าไป “ผลิตตัวเองเป็นมนุษย์โรงงาน” ผ่านระบบอุดมศึกษา เฉพาะนักเรียนที่ “สำเร็จที่สุด” ถึงจะได้รับอภิสิทธิ์ดังกล่าว โดมิโน่ล้มต่อไปเรื่อยๆ จนถึงประถม อนุบาล พรีคินเดอร์การ์เตน

    ไม่คิดว่าจะเป็นผลดีกับใครนอกจากระบบอุตสาหกรรม พ่อแม่ที่เชื่อในวิถีมอนเตสซอรี่ได้ อาจจะเหลือเพียงพ่อแม่ที่ไม่ต้องต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรของโลกนี้มาแล้ว (และพร้อมจะส่งต่อ wealth ให้รุ่นลูกไป grow ต่อ)

  • Daily Rant: all() and any() on empty iterables

    >>> all([])
    True
    >>> any([])
    False

    This may or may not be counter-intuitive. If it is, here is the simple explanation I like:

    For a non-empty iterable X, you can consider all(X) to be equivalent to X[0] and all(X[1:])

    When you expand everything, you get X[0] and X[1] and ... and all([]), notice how things will collapse if all([]) return False, because if it is the case, all() will never return True.

    In the same way, you can consider any(X) to be equivalent to X[0] or any(X[1:])

    When you expand everything, you get X[0] or X[1] or ... or any([]), notice how things will collapse if any([]) return True, because if it is the case, any() will never return False.

    This is neither a good nor correct explanation, because one can argue that they can define all() and any() operator with a non-empty iterable as the base of its recursive cause. I am not even sure if a set with negative numbers of elements is a thing, which will spark even more debate.

    More about this at Neizod’s blog: ตรรกะและการเขียนโค้ดจากวลี not all ~ neizod’s speculation

  • Daily Rant: Python Comparisons

    เห็นโพสต์นึงในอินเทอร์เน็ตพูดถึงการใช้ตัวดำเนินการ == และ is ในไพทอนแล้วน่าจะมีเนื้อหาที่ไม่ค่อยถูกนัก

    มิตรสหายเนยสดท่านหนึ่ง ใจดีไปแก้ไขที่ต้นทางให้ (link open in new tab) มองว่าผู้เขียนน่าจะรู้สึกเหมือน is เป็น === ใน JS กล่าวคือเป็น type strict comparison ซึ่งไม่ใช่ในกรณีของไพทอนอย่างแน่นอน เพราะตัวภาษาเองเป็น strict typed อยู่แล้ว

    เลยแวบมาเขียนอะไรขำๆ สักเล็กน้อย เกี่ยวกับการใช้ == และ is สักหน่อยแล้วกัน

    Prerequisites

    ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า == มีไว้เช็กความค่าเท่ากัน และ is มีไว้เช็กว่า object สองตัวเป็น instance เดียวกันไหม

    >>> a = []
    >>> b = []
    >>> a == b
    True
    >>> a is b
    False

    is None

    คำถามที่อาจจะน่าสนใจ คือทำไมเวลาเราเช็กว่าวัตถุใดๆ ในไพทอนเป็น None หรือไม่ เราเลือกที่จะใช้ is None แทน == None?

    แน่นอนว่าพอเขียนเป็นโค้ดแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเขียนภาษาธรรมชาติมาก แต่การเลือกใช้ is None เป็นเพียง syntactic sugar หรือเปล่า?, คำตอบคือไม่ใช่

    เหตุที่เราเลือกใช้ is None นั่นก็เพราะ None ในไพทอนเป็น singleton object กล่าวคือจะมีได้เพียง instance เดียว ทำให้การเช็กว่า object ใดๆ เป็น None หรือไม่ ทำได้ด้วยการเช็กว่าเป็น instance เดียวกันไหมนั่นเอง!

    True, and False

    กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจคือ True และ False ในไพทอน ซึ่งเป็น object ของ bool

    True และ False คล้ายกับ None ในแง่ที่ว่าในโปรแกรมไพทอนหนึ่ง จะมี instance ของ True เพียง instance เดียว และ instance ของ False เพียง instance เดียว

    ถ้าแบบนั้น แปลว่า True และ False ต่างเป็น singleton หรือเปล่า? คำตอบคือไม่ใช่ เพราะทั้งสองเป็น instance ของ boolean เหมือนกัน (ซึ่งแปลว่าไม่ได้มี boolean instance เพียง instance เดียวในโปรแกรมไพทอนหนึ่งโปรแกรม) ในทางเทคนิกเราเรียก design pattern ในลักษณะนี้ว่า Flyweight pattern

    อย่างไรก็ดี เราก็พอรู้แล้วว่าในทางทฤษฎี เราสามารถใช้ is ในการเช็กว่า boolean ค่าใดค่าหนึ่งเป็น True หรือ False หรือไม่

    >>> a = (0 == 1)
    >>> id(a)
    139976720486240
    >>> id(False)
    139976720486240

    หรือง่ายกว่านั้น

    >>> 0 == 1 is False
    <stdin>:1: SyntaxWarning: "is" with a literal. Did you mean "=="?
    False

    อ้าว… โกหกกันนี่หว่า…

    ไม่ใช่! pitfall หนึ่งของไพทอน คือ orders of operation ที่ทำ is ก่อนทำ comparison ซึ่งบางครั้งการลืม orders of operations ก็อาจจะทำให้เราเห็นอะไรแปลกๆ แบบนี้

    >>> True == not False
      File "<stdin>", line 1
        True == not False
                ^^^
    SyntaxError: invalid syntax

    มาลองกันใหม่ แบบใส่วงเล็บ

    >>> (0 == 1) is False
    True

    ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด

    แต่แน่นอน อย่าหาทำในชีวิตจริง

    Glitch in the Matrix?!?!

    >>> a = 256
    >>> b = 256
    >>> a is b
    True
    >>> a = 257
    >>> b = 257
    >>> a is b
    False

    ?!?!?!

    คำตอบอยู่ใน C API implementation ของ Python (ซึ่งเกร็ดความรู้คือ treat int กับ long ด้วย PyLong object เหมือนกัน)

    Integer Objects — Python 3.12.1 documentation กล่าวไว้ว่า

    The current implementation keeps an array of integer objects for all integers between -5 and 256. When you create an int in that range you actually just get back a reference to the existing object.

    Mimicing NULLs

    ใน SQL ค่าของ NULLs ไม่เท่ากับค่าของ NULLs อื่นๆ

    เพื่อเป็นการสาธิตความแตกต่างของ == และ is อย่างชัดเจนถึงแก่น เราสามารถสร้างคลาส NullType ที่สร้าง singleton object ของ NULL ได้ แต่เมื่อเอา instance ของ NullType “สองตัว” (เดียวกัน) มาเทียบกัน จะได้ผลลัพธ์เป็น False

    การสร้าง singleton ในไพทอนทำได้ง่าย ด้วยการ override magic method __new__

    หมายเหตุ: class_ ด้านล่าง เกิดจากการเติม underscore ข้างท้ายชื่อ argument ไม่ให้ชนกับคำว่า class ที่เป็น “คำสงวน”, ในบางตัวอย่าง เช่นในอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม อาจจะเลือกใช้ cls ก็ได้

    # null.py
    class NullType:
        _instance = None
    
        def __new__(class_):
            if class_._instance is None:
                class_._instance = super().new__(class_)
            return class_._instance

    แปลว่าตอนนี้ เราสามารถสร้าง null object ให้มีเพียง instance เดียวได้แล้ว

    $ python3 -i null.py
    >>> null_1 = NullType()
    >>> null_2 = NullType()
    >>> null_1 is null_2
    True

    ถ้าไม่ต้องการให้ null object ของเราเท่ากับอะไรเลย ก็แค่ override __eq__ method ที่จะถูกเรียกเวลาทำ comparison

    # null.py
    class NullType:
        _instance = None
    
        def __new__(class_):
            if class_._instance is None:
                class_._instance = super().__new__(class_)
            return class_._instance
    
        def __eq__(self, other):
            return False

    และลองรันใหม่

    $ python3 -i null.py
    >>> null_1 = NullType()
    >>> null_2 = NullType()
    >>> null_1 == null_2
    False
    >>> null_1 is null_2
    True

    ก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

    อ้างอิง และอ่านเพิ่มเติม

  • เธอไม่เคยอยากเขียนบล็อกถึงเขา

    เธอไม่เคยอยากเขียนบล็อกถึงเขา

    เธอไม่เคยอยากเขียนบล็อกถึงเขา

    แสงสีขาวจากช่องพิมพ์ข้อความแยงตา บรรยากาศต่างจากคืนวันนั้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่มีแสงนวลบนท้องถนนและผู้ชุมนุม มีเพียงความเปล่าเปลี่ยวและแสงสังเคราะห์แข็งกระด้าง

    อีกหนึ่งคืนที่ไม่มีเขาอยู่ข้างๆ

    เธอพิมพ์–แล้วก็ลบ–แล้วก็พิมพ์–แล้วก็ลบ ทั้งที่ปกติเธอเขียนเป็นงานอดิเรก แต่นี่ไม่ใช่รอบแรกที่เธออยากเขียนอะไรถึงเขาในนี้แล้วลบมันทิ้งไป

    เธอไม่อยากกร่อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเธอให้ดูเหมือนกับเป็นนิยายอีกต่อไป เธอไม่อยากให้มันเป็นเพียงโพสต์หนึ่งโพสต์ที่ไม่รู้จะมีใครมาอ่านหรือเปล่า

    เธอกด save draft แล้วปิดหน้าเว็บเขียนบล็อกของเธอทิ้ง เปิดเวิร์ดขึ้นมา

    อย่างน้อยไฟล์พีดีเอฟที่มีไว้แค่สำหรับ “เขา” ณ ปลายทางอีเมล ก็เป็นไฟล์พีดีเอฟที่เธอไม่ต้องตัดทอนเรื่องของเขาให้เหลือเพียงเรื่องที่เหมือนเรื่องแต่ง

    แสงสีขาวจากจอคอมพิวเตอร์ แต่พอเป็นเวิร์ด มันกลับอุ่นกว่ากันเหลือเกิน

  • How not to create an alumni association

    These are how one should* not create an alumni association:

    • Create a chat group.
    • Establish themselves as “seniors”.
    • Mandate, Suggest that the calls emphasising seniority be used, therefore creating an environment that does not reflect the dynamics and the relationships between alumnus in an inclusive and up-to-date manner.
    • Make the aforementioned chat group becomes forward from grandmas group.

    * Despite the fact that ones should not, ones might actually do them.

  • 2020: Year in Review

    2020 เป็นปีที่ยากลำบากและเหนื่อยในบางแง่มุม เป็นความโชคดีที่ในปีนี้น่าจะได้ประสบพบพานกับความรู้สึกดีหลายอย่าง ทั้งที่คาดหวังและไม่คาดหวังให้เข้ามา

    เทียบกับปี 2019 แล้ว ดูปีนี้ช่างเขียนง่ายกว่ามาก ชีวิตที่ดีอาจจะเป็นชีวิตที่สามารถหยิบมาเล่าได้ไม่ยาก และเมื่อต้องหยิบมาเล่าก็ไม่ได้มีน้ำตาให้นึกถึงเท่าไหร่

    (more…)
  • การเรียงพิมพ์ในภาษาไทยด้วย XeLaTeX

    การเรียงพิมพ์ในภาษาไทยด้วย XeLaTeX

    สามารถดูบทความนี้ในฉบับที่เรียงพิมพ์ด้วย XeLaTeX ซึ่งมีตัวอย่างฟอนต์ภาษาไทยแบบสมบูรณ์ได้ที่นี่

    สรุป: การเรียงพิมพ์เอกสารภาษาไทยสามารถทำได้ด้วยการใช้ XeLaTeX ร่วมกับแพคเกจภาษา polyglossia ด้วยฟอนต์ภาษาไทยจากโครงการ TLWG เพื่อให้ได้เอกสารรูปแบบที่สวยงาม และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับเอกสารที่เรียงพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย LaTeX

    (more…)