Author: srakrn

  • เพราะเธอไม่ใช่ดวงตะวัน

    หากเธอเป็นดวงตะวัน
    ที่สาดแสงแรงกล้าไม่ว่าโลกจะสดใสหรือซึมเศร้า
    ฉันคงไม่อายที่จะบอกเธอ ว่าช่วยเปล่งแสงให้ฉัน
    ว่าแสงของเธอช่างสดใสเหลือเกิน

    แต่เพราะเธอไม่ใช่ดวงตะวัน เธอเป็นคนสามัญ
    ที่ความรู้สึกขึ้นและลง
    ฉันจึงไม่กล้าบอกเธอ

    ลึกๆ ฉันต้องการแสงสว่างแค่ไหน ฉันบอกไม่ได้
    แสงที่ฉันได้มาอาจแลกกับพลังของเธอที่ถดถอยลง

    ถึงตอนนั้นฉันจะอยากได้แสงตะวันหรือ
    เมื่อความอยากได้ของฉันมันกำลังทำร้ายเธอ

    อาจเป็นเพราะเธอไม่ใช่ดวงตะวัน
    อาจเป็นเพราะฉันไม่อยากทำร้ายเธอ

  • ขอบคุณ

    ขอบคุณที่เข้าใจกัน
    ขอบคุณที่ทำให้เรากล้าเป็นตัวเรา

    ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าการมีคนเข้าใจ และกล้าพูดด้วยตรงๆ มันดีแค่ไหน
    ขอบคุณที่ทำให้กล้าทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ สักที
    ขอบคุณที่ยืนยันว่าจะรับสภาพแบบนี้ได้

    ขอบคุณมากนะ

  • Optimum

    คนเราเลือกเดินทางที่ดีที่สุด (optimum) ไหม?

    สัตว์บางชนิด อย่างเสือ สิงโต มันมักจะเลือกชีวิตและวิถีของตัวเอง ยามมันตกอยู่ในอันตราย มันจะทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่รอด

    กลับกัน บางแง่มุมของมนุษย์ ทางที่เราเลือกเดินอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด เราอาจเลือกเดินทางที่อยากเดินแม้รู้ว่ามันจะไม่มีวันเป็นไปตามที่เราหวัง
    เส้นทางบางเส้นทางเราเดินด้วยความคาดหวัง ถึงแม้ว่ารู้อยู่สุดหัวใจว่ามันไม่มีวันเป็นไปได้

    หรือเรากำลังวิวัฒนาการถอยหลัง?
    หรือเราไม่สามารถมีอิสระจากอารมณ์ ความคิด และความปรารถนาของตัวเอง?

  • คาดหวัง

    การไม่คาดหวังก็คือการคาดหวังอย่างหนึ่ง คาดหวังว่าจะไม่ต้องผิดหวังกับการคาดหวัง

  • ความรู้สึก

    “จริงๆ นะ ไม่ต้องห่วงเราหรอก”

    “โคตรเกลียดคำนี้เลย กูก็ห่วงของกูป่ะ”

    “อือ ความรู้สึกมันห้ามกันไม่ได้จริงๆ สินะ”


    แด่ความรู้สึกต้นเดือนสิงหาคมที่ปั่นป่วน

    ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจและคำปรึกษา

  • เพลงที่ทำให้ยอมใส่หูฟัง

    ปกติเป็นคนไม่ฟังเพลงเอง ชอบเพลงที่มาลอยๆ มากกว่า
    (นี่คือเหตุผลว่าใครได้ยินเราร้องเพลงจะพบว่ามั่วเนื้อตลอด :P)

    ดังนั้นเราเป็นคนที่ไม่มีหูฟังใช้ และคนจะไม่ค่อยเห็นเราอุดหูฟังกัน
    กระนั้นก็มีบางเพลงที่ทำให้อุดหูฟังได้ มาสิสต์เก็บไว้

    • คลาสสิกทุกเพลง อยากฟังเมื่อไหร่ (นานๆ ที) ก็อุด
      • มีเพลงนึงจำชื่อไม่ได้แต่ชอบมาก อยู่ในไอพอดแต่ไม่อยู่ใน iTunes แล้ว ต้องกลับไปขุด
    • เพลงของรัดเกล้า อามระดิษ
      • ลมหายใจ เพราะสุดๆ
    • The Carpenters
      • ส่วนใหญ่แล้วถ้าเริ่มอุดหูฟังนี่เพราะเพลง Close To You ที่เราอยากฟังบ่อยมาาากกกกกกก เป็นเพลงเดียวที่จะไม่ลังเลที่จะทำให้ยืมหูฟังเพื่อนเลย ทั้งๆ ที่ลิสต์นี้เอาเข้าจริงก็ “กล้ำกลืน” เขียน
        • ขณะเขียนบล็อกนี่ฟังมาแล้วสองรอบ
    • Bee Gees
      • ชอบ Too Much Heaven
      • หาโอกาสฟังเพลงอื่นอยู่
    • เพลงแปลกๆ ที่อยู่ดีๆ ก็ชอบมีคน influence ให้ชอบ (แต่ไม่ถึงขั้นหยิบหูฟังมาฟัง ชอบร้องมากกว่า)
      • ถ้าเธอคิดจะลืม – Polycat
      • เธอเก่ง – Potato (?) Jetset’er
      • เพื่อนรัก – The Parkinson
      • หากฉันตาย
      • เหนื่อยไหมหัวใจ
  • Fundamental HTML+CSS: Grid system

    บทความนี้อุทิศให้ไข่แห่ง CPE30 ผู้ขยันทำงาน 😛

    การจัดหน้าเว็บไซต์ในปัจจุบันนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามตามนิยามของแต่ละคนแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบ

    หนึ่งในปัจจัยที่มีผลในปัจจุบันคือขนาดของหน้าจอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าขนาดหน้าจอที่ต่างกันนั้นทำให้เกิดความ “หลากหลาย” ของเว็บไซต์

    หากทดลองเข้าบล็อกนี้จากโทรศัพท์ จะพบว่าส่วนแถบด้านข้างหายไปอยู่ด้านบน เทคนิกการจัดหน้าแบบนี้เรียกว่า “responsive” ซึ่งโดยเบื้องต้นจะกล่าวถึงการจัดหน้าโดยใช้ระบบ Grid อย่างง่าย

    กริดคืออะไร

    ในการออกแบบเว็บหลายๆ ครั้ง เราอาจแบ่งเป็น “แถบ” หลายๆ แถบ การออกแบบเว็บที่มีแถบด้านข้าง ก็อาจมองได้ว่าเราแบ่งเว็บในส่วนนอกเหนือจากหัวเป็น “แถบ”

    เป็นเรื่องง่ายดายที่ในปัจจุบัน เราสามารถใช้ระบบ “แถบ” ที่คน “ทำ” ไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว เราเรียกระบบนี้ว่า “ระบบกริด”

    Screen Shot 2559-07-30 at 9.50.46 PM

    กริดที่จะใช้ในบทความนี้ จะใช้ชุดกริดจาก flexbox grid ซึ่งสามารถแบ่ง “แถบ” ย่อยได้เป็น 12 แถบ

    ข้อดีของระบบกริดสมัยใหม่ คือสามารถสั่งให้ความกว้างของแต่ละ “โซน” ต่างกันในแต่ละขนาดหน้าจอได้ เราอาจใช้ความสามารถนี้ในการ “ย้าย” เมนูแถบสีเหลืองไปไว้ต่อบน-ล่างกับเนื้อหาส่วนสีน้ำเงิน

    Screen Shot 2559-07-30 at 9.53.33 PM

    เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา จะอธิบายวิธีการใช้ระบบกริดได้ดังนี้

    การใช้งานกริด

    เริ่มต้นใช้งานกริด

    ขั้นแริ่มแรกของการใช้กริด คือการเพิ่มไฟล์ CSS ของกริดไว้ในส่วน HTML Header ทำได้ด้วยการโหลดไฟล์กริดมาไว้ในที่ที่ตายตัวหนึ่งที่ แล้วใช้คำสั่ง <link> เพื่อสร้าง stylesheet

    <link href="path/to/flexboxgrid.css" rel="stylesheet" type="text/css">

    หากผู้อ่านเป็นนิสิต CPE30 ที่ต้องการสร้างไฟล์เพื่อส่งอาจารย์ อาจทำได้ด้วยการ hotlink (ไม่ต้องอัพไฟล์) ด้วยการแปะโค้ดตามนี้ในส่วน header

    <link href="https://srakrn.me/css/flexboxgrid.css" rel="stylesheet" type="text/css">

    ออกแบบหน้าเพจ

    เราจำเป็นต้อง “คิด” ก่อนว่าจะ “แบ่ง” เว็บของเราเป็นกี่ส่วนตามแนวนอน ซึ่งสมมติว่าหน้าเว็บเป็นทรงมาตรฐานดังรูปข้างบน

    เราอาจแบ่งเว็บทรงนี้เป็น 2 แถวตามแนวนอน คือส่วนหัวหนึ่งแถว กับส่วนเนื้อหาและส่วนเมนูด้านข้าง ตามกรอบสีแดงข้างบน

    Screen Shot 2559-07-30 at 9.55.41 PM

    ในการสร้างแถวตามแนวนอนใหม่ สามารถสร้างได้ด้วยคำสั่ง <div class=”row”>

    ในที่นี้อาจประกาศ row สองแถวได้ดังนี้

    <div class="row">
    </div>
    <div class="row">
    </div>

    การประกาศแถว เราจะประกาศด้วย <div> โดยประกาศ class ดังภาพ

    Screen Shot 2559-07-30 at 10.11.18 PM

    โดยที่

    • col-xs- คือกินพื้นที่กี่ “แถบ” บนจอขนาดเล็กมาก เช่นโทรศัพท์เก่าๆ
    • col-sm-คือกินพื้นที่กี่ “แถบ” บนจอขนาดเล็ก เช่นโทรศัพท์ใหม่ๆ
    • col-md- คือกินพื้นที่กี่ “แถบ” บนจอขนาดเล็ก เช่นไอแพดแนวตั้ง
    • col-lg- คือกินพื้นที่กี่ “แถบ” บนจอขนาดใหญ่ เช่นคอมพิวเตอร์

    ทั้งหมดตามด้วยตัวเลขว่ากินพื้นที่กี่แถบ มากสุดคือ 12

    ในส่วนของหัวแถวแรก เราสามารถประกาศ “แถบ” ที่กว้าง 12 หน่วยอย่างเสมอต้นเสมอปลายได้เลย

    <div class="row">
        <div class="col-xs-12
                    col-sm-12
                    col-md-12
                    col-lg-12">
            <h1>ส่วนหัว</h1>
        </div>
    </div>
    <div class="row">
    </div>

    ในส่วนของหัวแถวแรก เราสามารถประกาศ “แถบ” ที่กว้าง 12 หน่วยอย่างเสมอต้นเสมอปลายได้เลย

    <div class="row">
        <div class="col-xs-12
                    col-sm-12
                    col-md-12
                    col-lg-12">
            <h1>ส่วนหัว</h1>
        </div>
    </div>
    <div class="row">
    </div>

    และในส่วนเนื้อหา เราอาจประกาศได้ดังนี้

    เมนู: เล็กมากๆ ให้กว้างทั้งจอ ถ้าใหญ่ให้กว้าง 3 ส่วน
    เนื้อหา: เล็กมากๆ ให้กว้างทั้งจอ ถ้าใหญ่ให้กว้าง 9 ส่วน

    อาจเขียนเป็น HTML ได้ดังนี้

    <div class="row">
        <div class="col-xs-12
                    col-sm-12
                    col-md-12
                    col-lg-12">
            <h1>ส่วนหัว</h1>
        </div>
    </div>
    <div class="row">
        <div class="col-xs-12
                    col-sm-12
                    col-md-3
                    col-lg-3">
            <h2>เมนูด้านซ้าย</h2>
        </div>
        <div class="col-xs-12
                    col-sm-12
                    col-md-9
                    col-lg-9">
            <p>เนื้อหา</p>
        </div>
    </div>
    

    เป็นการใส่โครงให้กับ HTML เพื่อกำหนดความกว้างโดยคร่าว

  • บันทึกสถานการณ์หัวใจ ณ ปลายเดือนกรกฏาคม

    อยู่ดีๆ ก็อยากเขียน

    อนึ่ง นี่เป็นบันทึกความรู้สึกจากหัวใจ ซึ่งความรักเป็นสมาชิกของเซตความรู้สึก ดังนั้นหลายอย่างในบทความนี้อาจไม่เกี่ยวกับความรักแบบคู่ (couple relationship)

    • เราสร้าง first impression เองได้
    • และใครก็สร้าง first impression ให้เราได้เช่นกัน
      • first impression อาจจะเป็นหน้าตา นิสัย คำพูดแรกที่ทัก หรืออะไรก็ตาม
      • first impression สำหรับเรามีผลมากเลยนะ จะรู้สึกว่าใครตราตรึงก็เพราะตอนเจอกันครั้งแรกนี่ละ
    • สำคัญกว่า first impression คือ second impression
      • ตอนยังไม่สนิทกันมาก เราอาจรู้สึก “ถูกคอ” กับใคร แต่พอเวลาผ่านไป second impression มันจะทำให้เราเห็น mindset และทัศนะคติของหลายๆ คน
      • เช่น พี่เนียนที่เรา first impress ในฐานะเพื่อน และดีใจที่พี่เป็นพี่ใจดีที่คุยได้เรื่อยๆ
        • จากข้อบน คนเรามีเวลาเรียนรู้กันได้เสมอ
    • คนเราอาจไม่ต้อง expect สถานะ “พิเศษ” ในการดูแลคนอื่น
      • บางทีเลิกรากันไปแล้วก็ยังดูแลกันได้ คุยกันได้ในฐานะเพื่อน
        • ถ้าเราอยากทำให้เค้ามีความสุขด้วยการดูแลเค้า และความสุขของเราคือการเห็นเค้ามีความสุข ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ก็แปลว่าเรา “ไม่ควร” ยึดติดกับสถานะว่าเป็นคู่หรือไม่เป็นคู่
          • บางคนก็บอกว่านี่เป็นนิยามของ pure love คือ “ความยินดีที่อีกฝ่ายมีความสุข”
          • แต่จริงๆ นะ มนุษย์เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง love+lust ภายใต้ความสุขที่มัน pure จริงๆ แล้วมีตัณหาและความอยากเป็นเจ้าของครอบงำอยู่
            • เรานับถือคนที่แยกตรงนี้ออก เพราะหมายถึงคุณเข้าใจความหมายของคำว่ารักจริงๆ โดยไม่เอามันไปผูกกับคำว่า “แฟน” “เหมือนพี่น้อง” หรืออะไรก็ตาม
            • แต่สุดท้ายสำหรับคนที่ไม่สามารถแยกได้ มันก็คือการที่คุณพยายาม cope กับความ “อยากเป็นเจ้าของ” หรืออะไรทำนองนั้น
              ความอกหัก ในมุมมองของเรา ไม่ได้เกิดจากการไม่รัก แต่เกิดจากการไม่สามารถ “maintain” ความอยากครอบครองได้

              • ถ้าถามว่างั้นจะจีบทำไมในเมื่อไม่ต้องการเป็นแฟน ก็เป็นการตอกย้ำความจริงว่ามนุษย์เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง love+lust
              • ถ้าบอกว่า “อ้าว แม่งก็เป็นงี้ทุกคน” และพยายามถามว่ามนุษย์ที่แยกรักกับใคร่ออกจากกันได้แม่งมีแค่ไหน ก็ยินดีด้วย คุณคือมนุษย์ปกติ แต่พวกที่แยกออกคือพวกที่ “บรรลุ” แล้ว
          • แต่สุดท้ายแล้ว “สถานะ” ก็เป็นตัวกำหนดความ dependence ของทั้งสองฝ่าย ให้คนสองคนขึ้นต่อกันด้วยความสัมพันธ์ที่พิเศษ เป็นความสัมพันธ์อบอุ่นๆ ที่ไม่รู้สึกกับทุกคน

            “ความรักฉันมันควบคุมไม่ได้ ถ้ารักสักครั้ง มันจะมากที่สุด จะทุ่มทั้งใจ จะผูกวิญญาณไว้กับคนคนนั้น ดังนั้นเมื่อทุกอย่างพังทลาย เมื่อมันไม่เป็นอย่างที่เคย ฉันก็จะเจ็บปวด ฉันจะตายทั้งเป็น ความรู้สึกของฉันมันจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ฉันรู้ว่ามันจะเป็นแบบนั้นแน่ ๆ และฉันรู้มาตั้งแต่แรก” – On Love โดยพี่ต้นกล้า

    • ความเหงาฆ่าคนได้
      • ความเหงาจะออกฤทธิ์แรงเมื่อเรามีเวลา “เพ่งดูจิต” ของตนเอง
      • เชื่อว่า “จิต” ไวที่สุด และคงเป็นการยากที่จะเพ่งพิจารณาทุกอิริยาบทของความคิด
        • เคยพยายามหา podcast ธรรมะมาฟัง แต่ไม่ได้ช่วยอะไร
        • มีเวลาว่างก็อยากฟังอีก

    ตันแล้ว ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว เลยปิดท้ายด้วยทวิตไว้อีกทวิต

  • แด่การสอบเข้าที่ผ่านพ้นไป + สัมภาษณ์วศ.​เกษตร

    อยากเขียนบล็อกสอบเข้าใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะของเก่าเว็บพังและหายไปแล้ว

    ก่อนมหกรรมสอบ

    เราสอบสอวน. ไม่ได้ตั้งแต่ม.5 เพราะเกรดฟิสิกส์ห่วย (ทั้งที่อาจารย์เคลมว่าเราเข้าใจที่สุด แต่ทำข้อสอบไม่ได้)

    นี่คุณอยู่ในห้องก็ทำได้นะ แต่พอสอบไม่รู้คุณเป็นอะไรทุกที

    ก็ค่อนข้างเสียใจแหละ เพราะสอวน. เป็นทางลัดไปสู่ที่เรียนต่างๆ เยอะมาก

    ความเลวร้ายของเกรด

    เกรดทำร้ายผมมากครับ ส่วนหนึ่งเพราะตอนสอบ (เป็นทุกวิชาแหละ แม้แต่คอม) ส่วนหนึ่งเพราะดองชีท

    สอบนี่ปกติอยากโทษตัวเองนะ แต่ข้อสอบคณิตมันทำร้ายต่อเนื่องยาวนานมาก (ถ้าอาจารย์ฝ้ายอ่านอยู่ ปราณีรุ่นน้องด้วยนะครับ ขอเหมือนเทอมหลังๆ นะ ;___;)

    ผมจบม.6 ด้วยเกรดคณิต 2.5 ฟิสิกส์สองเทอมแรกได้เกรดไม่พ้นนี้ทั้งๆ ที่ทำได้ ส่วนเทอมที่เหลือ (ยกเว้นม.6 เทอมสองที่ผมเท) ฟิสิกส์ก็ 4 ตามระเบียบ

    แต่คณิตก็เป็นตราบาปหนักมากๆ อยู่ดี

    เริ่มหาเป้าหมายรอง

    เป้าหมายหลักของเราคือวว. เกษตรมานานมากแล้ว (แต่เวลา aim จะเอาให้ติด ฬ เพราะกันคะแนนเหวี่ยง และฟังเพลงมหาจุฬาลงกรณ์แล้วมันฮึกเหิมกว่าเพลงเกษตรศาสตร์ สุดท้ายก็คะแนนถึงวศ.รวมของ ฬ แต่ไม่ได้จ่ายค่าใบสมัครไป)

    ประเด็นคือเป้าหมายรองเนี่ยสิ ถ้าไม่ได้เกษตรเอาที่ไหน

    • SIIT เอาแน่ถ้าได้ทุน
    • ICT มหิดล neutral (แต่พอได้ทุนแล้วรู้สึกดีขึ้นนิดนึง ไม่งั้นจ่ายไม่ไหว)
    • เครือพระจอมนี่ rank ไว้ว่าลาดกระบัง > บางมด ส่วนพระนครเหนือไม่ได้ยื่นไป

    เป้าหมายที่ไม่ต้องคิดมากเรื่องสอบ

    ม.สงขลานครินทร์

    มีโครงการที่ยื่นพอร์ทโน่นนี่ไปครับ วิธี rank คือเอาอันดับ NLC-NSC-YSC คัดจากที่หนึ่ง สอง สาม ไล่ไปเรื่อยๆ ตามที่ยื่น โดยทุกการแข่งขัน weight เท่ากัน

    แปลว่าผมได้แน่ๆ เพราะถือว่าเป็น NLC ที่หนึ่ง

    ข้อเสียคือสงขลานครินทร์ครับ สงขลาไม่ใช่ใกล้ๆ

    SIIT

    SIIT นี่สอบเพราะทุนมันอย่างเดียวครับ ถ้าไม่ได้ทุนก็ไม่เรียน

    ข้อสอบผมมั่นใจว่าทำได้นะ แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ทำได้หรือไม่ได้ไง มันทำได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนอื่น

    สุดท้ายผมไม่ได้ทุน (แต่ติด) วันนั้นเคว้ง นั่งถามตัวเองว่าทำไมวะ
    เพื่อนที่ได้ SIIT (แต่เกรดไม่ถึงพอรับทุน และทางบ้านพร้อม support ถ้าเรียนที่นี่) มายินดีด้วยกับผม ไมตรีจิตเพื่อนช่วยให้รู้สึกดีบ้างนิดนึง

    Active Recruitment บางมดฯ

    ยื่นพอร์ทไปรอบแรกและรอบเดียวครับ ไม่ได้ จบ เคว้งเบาๆ (ซึ่งก็พยายามปลอบใจตัวเองว่าเพราะรับภาคปกติน้อยกว่านานาชาติมาก)

    หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ทำพอร์ทส่งไปที่ไหนอีก (คือพอร์ทผม handcraft ทุกเล่ม ต้องนั่งตัดขอบกระดาษ 36 แผ่น เหนื่อยเอาการ)

    ICT มหิดล

    เหมือนกันครับ ไปเพราะมีทุน (สำหรับคนสอบ) และมีรอบที่รับผ่านการยื่นพอร์ท ผมก็เลยเอาทั้งสองรอบ

    สรุปก็คือได้ทุนมาครับ มอบตัวเสร็จสรรพ

    สอบ GAT-PAT

    ผมเครียด PAT3 เป็นพิเศษ แต่ส่วนหนึ่งได้เวกเตอร์เข้าช่วย ส่วน PAT1 นี่ทิ้งตามยถากรรม แต่ต้องขอบคุณที่โรงเรียนที่สอน Prob-Stat-Cal ดีมากๆ จนหายห่วง

    ถึงจะบอกว่าเครียดแต่ก็ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเครียดขนาดนั้น ผมอ่านหนังสือโต้รุ่งคืนเดียว แตะมือถือทุกวันโดยเฉพาะทวิตเตอร์

    ทำโจทย์กับเพื่อนก็ตามยถากรรมมากๆ ทำเท่าที่มี มีเท่าที่ทำ

    GAT เชื่อมโยงซื้อหนังสือมาดอง GAT Eng ไม่ได้อ่านเพิ่มเท่าไหร่นัก ผมบอกเพื่อนสนิทที่ตั้งใจฟิตอังกฤษด้วยกันว่า

    Let’s see if my damn rusty grammar would do its work or not.

    ผลออกมาตามรูปด้านล่าง

    Screen Shot 2559-07-18 at 12.26.36 PM

    comparegatpat5902

    วิชาสามัญ

    ฟิตทุกวิชายกเว้นเคมีครับ เพราเกษตรใช้คะแนนสามัญ โดยเฉพาะฟิสิกส์ที่อยากเก็บ 80 อัพ

    12669547_955116497915556_8111723351972702947_n

    เห็นคะแนนฟิสิกส์แล้วผมเสียใจเบาๆ ควรทำได้มากกว่านี้

    แต่คณิตศาสตร์ 1 นี่เพื่อนสนิทผม (อีกคนกับที่ฟิตอังกฤษ) และเก่งมาก มันได้น้อยจนผมเองยังแปลกใจ ดังนั้นผมถือว่าคะแนนผมนี่ coincidence ไม่ได้ได้มาด้วยความสามารถ

    แต่สุดท้ายคะแนนตรงนี้ก็ไม่ได้ใช้ ผมเข้าเกษตรผ่านโครงการโควต้า 30 จังหวัด ที่ถ่วงคะแนน GAT ไปแล้ว 50%

    สัมภาษณ์

    ผมไม่เคยมั่นใจอะไรเท่าสัมภาษณ์ และผมจริงจังกับมันมากกว่า paper test ด้วยซ้ำ

    เขียนเล่าการสัมภาษณ์แทบทุกครั้งไว้ ตามอ่านได้ที่นี่

    มีสัมภาษณ์ที่นึงที่ผมยังไม่ได้เขียน คือวิศวะเกษตร เพราะผมไม่อยากเขียนมัน แต่เขียนอันสวยหรูมาเยอะมากๆ แล้ว ก็ขอเขียนอันที่ไม่เป็นเหมือนที่หวังบ้าง

    สัมภาษณ์วิศวะเกษตร

    ก่อนสัมภาษณ์วิศวะเกษตร ผมทำหนังสือรุ่น สภาพประมาณนี้

    วันที่พักจากการทำหนังสือและแยกย้าย ผมกลับบ้าน จัดชุดนักเรียนและปั่นหนังสือรุ่นต่อ ในใจไม่ค่อย concern เรื่องสัมภาษณ์เท่าไหร่นักเพราะลิงค์ข้างบนทุกลิงค์ผมจบการสัมภาษณ์ได้สวยเสมอ ผมนอนดึก ถ้าหนังสือรุ่นไม่เสร็จโรงพิมพ์จะด่าเอา

    เช้าวันต่อมาไปสัมภาษณ์ แน่นอนสภาพไม่จืด ผมพกพอร์ทไปหนึ่งเล่มพร้อมเอกสารที่ทางนั้นขอมา

    มีคนสัมภาษณ์ก่อนผมหนึ่งคน ผมเห็นพอร์ทเค้ามี NSC ขณะที่ของผมหรูสุดมี srakrnARSE กับ NLC12

    หลังจากคนก่อนหน้าผมสัมภาษณ์เสร็จ ผมเข้าห้องสัมภาษณ์ไป อาจารย์สองท่านดูใจดี ผมประหม่ากว่าทุกครั้งเพราะรอเวลาที่จะสัมภาษณที่นี่มานานแล้ว

    ใครไม่อยากอ่านอะไรเศร้าๆ ถึงจะแฮปปี้เอนด์ดิง กด

    เตือนก่อนอ่าน: ตกหล่นและมีเพี้ยนแน่ๆ เพราะวันนั้นหัวผมทื่อ และมันนานมากแล้ว

    “สวัสดีครับ แนะนำตัวหน่อยครับ”
    “สวัสดีครับ ศิระกร ลำใย ปัจจุบันอยู่สาธิตม. ราชภัฏนครปฐม สิ่งที่คิดว่าทำให้ชอบคอมพิวเตอร์ก็คือผมเชื่อว่ามันแก้ปัญหาได้ตั้งแต่เล็กมากๆ ถึงใหญ่มากๆ ครับ”

    “ทำไมถึงเลือกที่นี่”
    “ก็เชื่อว่าที่นี่มี advantage ที่ดีกว่าที่อื่นน่ะครับ เพราะอย่าง KUSmartBus ที่นี่ก็ทำเอง เทียบกับมหาวิทยาลัยที่หนึ่งที่เหมือน outsource ทำ”

    “ทำไมถึงเลือกวิศวะคอม”
    “เหมือนที่บอกน่ะครับ ผมเชื่อว่ามันช่วยในการแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดถึงใหญ่ที่สุด”
    หลังจากคำถามนี้มียกตัวอย่างปัญหาต่อ ถ้าผมจำไม่ผิดผมจะโชว์เรื่อง srakrnARSE ไป

    “พอร์ทคุณเคยเขียนโปรแกรมมานี่ งั้น อัลกอริทึมคืออะไร”
    “ผมจะตอบว่ามันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นระเบียบแบบแผนและขั้นตอนแน่นอนแล้วกันครับ”

    “ยกตัวอย่างอัลกอริทึมมาหน่อย”
    ก่อนหน้านั้นผมไปสัมภาษณ์ IC-KMITL มา ผมพยายามนึกว่าผมตอบอะไรไปบ้างในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นผมเล่นมุก pseudorandom number ไปเพราะกำลังสนใจเรื่อง cryptography
    ผมอ้ำอึ้งนานมากแล้วยึดติดกับตรงนั้น ผมไม่รู้จะเอาอัลกอริทึมอะไร

    “Hash ครับ”

    “Hash คืออะไร”
    ผมเรียบเรียงคำพูดไม่ถูก ลนไปอีก อัลกอริทึมง่ายๆ มันมีแต่ดันเอาของยากมาพูด
    “มันเหมือนค่าที่เป็นค่าที่ represent ข้อมูลชุดนึงน่ะครับ อย่างค่า checksum ก็เป็น hash”
    ตอนนั้นในหัวผมแม่งงงไปหมด รูปประโยคผมไม่ได้สวยแบบนี้แน่ๆ

    เพื่อนผมบอกว่าตอนทำข้อสอบ คนเรามักมีอาการเหงื่อโง่ คือทำไม่ได้ตอบไม่ได้แล้วรู้สึกโง่ทันที ความมั่นใจหายไปหมด
    ผมรู้ตัวว่ามันเกิดขึ้นแล้วแน่ๆ ฉิบหายแล้วแน่ๆ

    ผมไม่แน่ใจว่าหลุดออกจากโปรแกรมมิ่งไปได้ยังไง แต่คำถามต่อมาที่ผมไม่ลืมคือ

    “ทำไมเกรดคณิตศาสตร์คุณ…”

    เอาเข้าจริงที่ IC ลาดกระบังก็ถามแบบนี้ (ด้วยคำถามว่าคะแนน PAT คุณดีมากเลยนะ but what’s wrong with your Math grade?) ตอนสัมภาษณ์ (ม.6 เทอม 2) ผมเรียนแคลคูลัส ผมเลยยกตัวอย่างไปได้เลยว่าโรงเรียนผมมันสอนเกินหลักสูตรชัดเจน (เช่น by-parts พวกนี้)
    ผมอธิบายตรงนี้ไป
    ที่ลาดกระบังพอเค้าดูคะแนน PAT ทางนั้นก็เคลียร์ครับเพราะคะแนน sensible (ไถไปดูตารางแจกแจงคะแนนข้างบนได้)

    “ส่วนหนึ่งเพราะโรงเรียนผมสอนเกินหลักสูตรและ set standard สูงด้วยครับ อย่างตอนนี้เรียนแคลคูลัสก็จะเจอไปถึง integration by parts กับพวก integration by fractions”
    “By parts นี่ปกติไม่ได้เรียนม.6 เหรอ”
    ผมพยายามอธิบายไปว่าไม่ ตำราสพฐ. นี่ถ้าอินทิเกรตจะไม่เกิน polynomial ในรูปทั่วไป (แยกเป็นก้อนๆ ย่อยๆ แล้ว ซึ่งมันง่ายมากจริงๆ)

    คุยอะไรไม่รู้ต่อสักพัก

    “ทำไมเราถึงควรรับคุณ”
    “ผมเชื่อว่าผม fight ได้ครับ ผมกล้าพูดว่าเกษตรฯ คือเป้าหมายอันดับหนึ่ง ผมพิสูจน์ให้ดูแล้วด้วยคะแนน PAT ที่ผม fight มาได้ และถ้ามีอะไรที่ผมต้อง fight ผมก็ยินดี”
    “fight เพื่อปกปิดเกรด 2.5 น่ะเหรอ?”

    ผมอึ้งเลยนะ มันเหมือนหมัดแสกกลางหน้า น็อคผมอยู่หมัด ถ้าขี้แยแบบเมื่อก่อนน่าจะร้องไห้ไปแล้ว
    ผมถามตัวเองเลยว่าออกไปจากตึกภาคฯ วันนี้แล้วผมจะมีโอกาสเข้ามาอีกทีไหม จะได้เข้ามาบ่อยแค่ไหน

    ผมจำอะไรหลังจากนั้นไม่ค่อยได้ ผมจำได้ว่ากรรมการบอกว่าผมตอบคำถามได้ดีกว่าที่เคยเจอมา แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าทางด้านอื่นกรรมการพึงพอใจ
    ผมจำได้ว่ากรรมการบอกว่าผมเรียนได้แน่ๆ ไม่มีปัญหาหรอก แต่ตอนนั้นหัวผมคิดว่าเรียนได้กับได้เรียนมันก็ไม่เหมือนกัน

    สัมภาษณ์เสร็จผมขอใบรหัสเคลียร์ริ่งเฮาส์ กรรมการไม่ได้ให้คนก่อนไปเพราะไม่ทราบ ผมยังถามตัวเองตอนนั้นเลยว่าต่อให้มึงได้รหัสมา เอาไปล็อกอินจะมีชื่อมึงไหม

    เดินลงมาจากภาคคอม พ่อนั่งรอที่บาร์ IUP ผมเดินผ่านป้าย IUP แล้วผมเหม่อเลยนะ กูอยากมาแดกข้าวใต้ตึกนี้นอกจากวันบาร์แคมป์ นี่กูจะมีโอกาสไหม

    ปรากฏทางภาคมีปัญหากับเอกสาร ผมกับผู้สมัครอีกคนขึ้นไปห้องธุรการหรืออะไรสักอย่าง เขาขอเอกสารเพิ่มเติม
    ผมเหลือบไปเห็นใบรายชื่อสัมภาษณ์ มันมีสองคน หลังชื่อสองคนนั้นมันมีคำว่าผ่านทั้งคู่

    กูสบายใจแล้ว

    กลับบ้านกินข้าว นอนหลับ

    จุฬาลงกรณ์

    ผมสมัครจุฬาฯ ไปด้วย (อยากรู้ว่าติดไหม ทั้งที่ตอนแรกคิดว่าไม่ติดเพราะรวมแล้วคะแนนผมมันประมาณหมื่นแปด ปีที่แล้วสองหมื่น) แต่ไม่ได้จ่ายเงิน

    ปรากฏปีนี้คะแนนร่วง ขั้นต่ำเหลือหมื่นหก แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร


    จบแล้วแหละ

    ปะ พรุ่งนี้ขนของเตรียมไปอยู่บางเขน 😀

  • รีวิว Bamboo Fineline 2

    รีวิว Bamboo Fineline 2

    ในบรรดาปากกาสไตลัสต่างๆ นั้น หนึ่งในแบบที่นิยมใช้มากที่สุดคือปากกาซึ่งเชื่อมต่อด้วยบลูทูธได้

    ปากกาซึ่งเชื่อมต่อบลูทูธได้มีจุดโดดเด่นสองจุดเหนือปากกาชนิดอื่นคือ สามารถรองรับแรงกดของปากกา และรองรับการตรวจจับฝ่ามือ (palm detection) บนหน้าจอของไอแพดได้

    ผมมีโอกาสซื้อ Bamboo Fineline 2 จากค่ายผู้ผลิตปากกาชื่อดัง Wacom มาใช้ จึงมาเขียนรีวิวครับ

    ตัวปากกา

    ปากกาของ Wacom นั้นทำจากมั้งอะลูมิเนียมและพลาสติก มาในสีให้เลือกสี่สีคือฟ้า ทอง ดำ และเทา

    ส่วนหัวปากกาเป็นจุดขนาดเล็ก ขนาดต่างจากปากกาหัวยางอย่างเห็นได้ชัด

    IMG_1395

    (ขออภัยที่โฟกัสไม่ไป)

    ก้นปากกามีพอร์ต MicroUSB ไว้สำหรับชาร์จ

    IMG_1396

    ในด้านวัสดุถือว่าทำออกมาได้ “โอเค” ไม่ได้แย่แต่ก็ไม่ได้ดีโดดเด่น โดยส่วนตัวมองว่าตรงปลอกปากกาดู “ถูก” (looks cheap) ไปหน่อย ซึ่งอาจเป็นเพราะผมนำวัสดุและดีไซน์มันไปเทียบกับปากกาที่ส่วนตัวนับว่าเป็นเป็น fine writing instrument อย่างลามี่ (ซึ่งออกแบบที่หนีบได้สวยมาก) ก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นต้นทุนปากกาและฮาร์ดแวร์ภายในก็ต่างกันมาก การนำมาเทียบแบบนี้ไม่ถูกสักเท่าไหร่

    IMG_1391

    การใช้งาน

    ข้อเสียอย่างหนึ่งของปากกาตระกูลบลูทูธคือ แอปที่รองรับนั้นมีน้อยมาก เพราะต้องใช้ SDK เฉพาะของผู้ผลิตปากกา ซึ่งเมื่อเทียบกับ Apple Pencil ซึ่งรองรับการวางมือมาในระบบปฏิบัติการเลย ทำให้คะแนนด้านแอปที่รองรับห่างกันแบบไม่เห็นฝุ่น (ส่วนข้อดีคือราคา ยิ่งผมซื้อ iPad ลดราคามาด้วยยิ่งถูก ฮา!)

    แต่ด้วยจุดประสงค์ของการจดโน้ต แอปจดโน้ตชื่อดังในตลาดอย่าง GoodNotes และ Notability ต่างก็รองรับการต่อกับบลูทูธ ซึ่งทำให้ไม่มีปัญหาอะไร
    อันที่จริงแล้วจุดประสงค์ที่เลือก iPad แทนที่จะเป็นแท็บเล็ตตระกูลที่มีปากกามาให้ ส่วนหนึ่งเพราะผมหา solution จดโน้ตบน PDF (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสไลด์และหนังสือเรียน) ที่ดีกว่าหรือเทียบเท่า GoodNotes บนแพลทฟอร์มอื่นไม่ได้แล้ว

    ก่อนใช้งานครั้งแรกจำเป็นต้องชาร์จไฟ ในคู่มือระบุเวลาไว้ที่ 45 นาที

    ใน GoodNotes การตั้งค่าปากกานั้นจะอยู่ที่เมนูหลักมุมบนขวา ซึ่งวิธีการ pair ปากกาก็เพียงแค่จิ้มหัวปากกากับปุ่ม ปากกาจะทำการ pair อัตโนมัติ

    ในการใช้ปากกาครั้งต่อๆ ไป เพียงกดปุ่มบนตัวปากกาขณะเปิดแอปที่รองรับ ตัวปากกาจะ pair และเชื่อมต่อให้เอง

    ในแอปสามารถตั้งค่าให้ปุ่มบนปากกาทำหน้าที่เป็น shortcut ได้ ผมตั้งให้เป็นปุ่ม undo

    IMG_0064

    สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ อันที่จริงแล้ว สำหรับปากกาแบบ active stylus ซึ่งใช้การปล่อยไฟฟ้าจากหัวปากกา หากเอียงเขียนแล้วตัวจุดปล่อยไฟฟ้าจะเกิดการเหลื่อมกับปลายปากกา ดังนั้นในแอปพลิเคชั่นจะมีให้ตั้งค่าการจับปากกา ซึ่งเมื่อตั้งค่าส่วนนี้ โปรแกรมจะทำการ “เลื่อน” จุดที่เขียนให้มาอยู่ที่ปลายปากกาตาที่เล็งไว้ตั้งแต่แรก

    IMG_0068

    การตั้งค่าตรงนี้จะมีผลกับระบบ palm reject ในแอปฯ ส่วนหนึ่งด้วย

    IMG_0066

    สำหรับ GoodNotes นั้นถือว่าทำออกมาได้โอเคมาก เมื่อเขียนโน้ตโดยใช้ช่องซูมขยาย ไม่พบปัญหาหรือข้อรังควานใจมากนัก ยกเว้นบางที่ที่สไตลัสไม่ส่งข้อมูลว่าปากกาถูกจรดบนจอแล้ว ทำให้เส้นขาดหายไปบ้าง (ซึ่งเจอบ่อยๆ ก็หงุดหงิดอยู่)

    ปากการองรับแรงกด แต่ไม่แน่ใจจดโน้ตต้องใช้ด้วยหรือเปล่า (pun not intended)

    IMG_0067

    ทั้งนี้การเขียนตัวอักษรเล็กๆ โดยไม่ซูมนั้น จอจะไม่สามารถตรวจจับเส้นโค้งที่รัศมีสั้นมากๆ ได้ ซึ่งเป็นปกติของสไตลัสประเภทนี้อยู่แล้ว

    GoodNotes บันทึกอักษรทั้งหมดเป็นเวกเตอร์ นั่นหมายถึงขยายไม่แตก ซึ่งผมชอบมาก ทั้งนี้สามารถดูตัวอย่างไฟล์ PDF ที่ export ออกมาได้ที่นี่

    นอกจาก GoodNotes แล้ว Wacom ยังทำแอปชื่อ Bamboo Paper มาด้วย

    Bamboo Paper นั้นจะให้ชนิดสมุดและปากกามาจำกัด เมื่อเชื่อมต่อ Stylus ระบบจะ “แถม” ดินสอ และสมุดสองชนิดในแอปให้

    ทั้งนี้ เหลือเครื่องเขียนอีกสามแบบ (ปากกาหัวหนา สีน้ำ สีเทียน) และสมุดอีกหนึ่งแบบ (สมุดกระดาษวาดเขียน) ซึ่งสามารถซื้อผ่าน In-App Purchase ในราคา 99 บาท หรือปลดล็อกได้โดยซื้อสไตลัสรุ่นแพงกว่านี้

    ความรู้สึกแรกหลังจากทราบว่าได้ปากกาไม่ครบชุดคือ “อ๋อเหรอ ค่าสไตลัสสองพัน ยังจะมาเก็บอีก 99 บาทเหรอ”

    IMG_0069

    การวาดเขียนโดยทั่วไปทำได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก

    ตัวอย่างรูปที่วาดคือรูปอธิบายการทำงานของ Active stylus ข้างบน จะเห็นว่าพยายามลงเส้นหนักเบาตรงส่วนแรเงา ซึ่งปากกาทำได้ดี แต่คนวาดมีปัญญาวาดได้แค่นี้ 😀


    สรุป

    ถึงแม้ว่าปากกาจะทำได้ดี แต่การเทียบกับตลาดแท็บเล็ตที่ผู้ผลิตทำปากกาออกมาเฉพาะเลย ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเทียบตัวปากกาได้

    ทั้งนี้ หากมองตลาดแอป iOS ที่รองรับปากกานี้ หากต้องการซื้อมาใช้เพื่อจดโน้ต ปากกานี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี โดยเฉพาะสำหรับคนที่ใช้ iPad อยู่แล้วครับ