Author: srakrn

  • คำถามห้าข้อ

    “Blair’s Doctrine” (หลักคิดของแบลร์) ซึ่งเป็นหลักคิดของโทนี แบลร์ อดีดนายกรัฐมนตรีของอังฤษ เสนอว่าก่อนจะดำเนินการทางทหารกับประเทศใดๆ เราควรตอบ “ใช่” กับคำถามห้าข้อนี้

    1. Are we sure of our case? (เรามั่นใจใช่หรือไม่ว่าเราทำถูก)
    2. Have we exhausted all diplomatic options? (สอง เราไม่มีวิธีการทูตเหลือแล้วใช่ไหม)
    3. Are there military operations we can sensibly and prudently undertake? (มีปฏิบัติการทางทหารที่เราจะสามารถใช้ได้อย่างรับผิดชอบและมีเหตุผลหรือไม่)
    4. Are we prepared for the long term? (เรารับผลระยะยาวได้หรือไม่)
    5. Do we have national interests involved? (เรามีเหตุผลแห่งรัฐของเราเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่)

    แม้จะเป็นคำถามที่ค่อนข้างกว้าง แต่หลักคิดของแบลร์ก็สามารถให้คำตอบคร่าวๆ กับการตัดสินใจใดๆ ที่อาจนำพาไปสู่ความลำบาก

    ขอเสนอหลักคิดของแทน — ในการยืนยันว่าเราชอบใครจริงๆ เราควรตอบคำถามเหล่านี้

    1. Are we sure of our feelings? (เรามั่นใจในความรู้สึกใช่ไหม)
    2. Are we sure of our feelings? (เรามั่นใจในความรู้สึกใช่ไหม)
    3. Are we sure of our feelings? (เรามั่นใจในความรู้สึกใช่ไหม)
    4. Are we sure of our feelings? (เรามั่นใจในความรู้สึกใช่ไหม)
    5. Are we sure of our feelings? (เรามั่นใจในความรู้สึกใช่ไหม)

    เพราะเรื่องบางเรื่องก็ปล่อยมันเป็นความรู้สึกไปเถอะ

  • วิธีตรวจหน่วยความจำเกินสำหรับโค้ดโปรแกรม

    ตอนทำเกรดเดอร์ของ 111 (1DG) ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มะนาวว่าให้ใช้ sandbox กันหน่วยความจำเกินของ Mares สำหรับผู้เรียนที่เป็นคนตรวจสอบการเขียนโค้ดเอง ถ้าสามารถรันคำสั่งในลักษณะเดียวกันได้ก็จะสามารถเช็คหน่วยความจำเกินได้ไม่ยาก และมีประโยชน์กว่า X หรือ T โดดๆ จากเกรดเดอร์

    ขั้นแรก โหลดไฟล์ Sandbox มาจาก https://github.com/cafe-grader-team/cafe-grader-judge-scripts/blob/master/std-script/box64-new.c (กด Raw แล้ว Ctrl+S เซฟไว้สักที่) เสร็จแล้วคอมไพล์ด้วย GCC (ทั้งนี้สำหรับนิสิต 111 หมู่ 1 ในเซิร์ฟเวอร์กลางมีคำสั่งนี้ให้ใช้ได้ทันที ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย)

    gcc box64-new.c -o box

    หลังจากนั้นจะได้ไฟล์ชื่อ box แนะนำให้ย้ายไปไว้ใน $PATH สักโฟลเดอร์ (ท่าที่ง่ายที่สุดคือย้ายเข้าไปใน /bin)

    sudo mv box /bin

    รันคำสั่งbox หนึ่งที ควรจะได้ output ออกมาประมาณนี้

    ถ้าได้แล้วแปลว่าทุกอย่างโอเค ให้เขียน input ที่ต้องการใส่ไว้เป็นไฟล์ไฟล์หนึ่ง แล้วรันคำสั่ง

    box -a 2 -f -T -t [เวลาที่จะจำกัด] -m [เมมที่จะจำกัด (kB)] -i [ไฟล์ input] [ไฟล์โปรแกรมที่คอมไพล์แล้ว]

    เช่น ถ้าจะรันให้ทัน 2 วินาที ในเมม 32MB (32768KB) โดยรับข้อมูลเข้าจากไฟล์ input-4.txt และโปรแกรมชื่อ a.out ให้รัน

    box -a 2 -f -T -t 2 -m 32768 -i input-4.txt a.out

    คำเตือนคือตรงชื่อไฟล์ที่จะรันต้องเป็นพาธที่ถูกต้อง สำหรับนิสิต 111 หมู่ 1 ถ้าจะรันไพธอนให้รันด้วย

    box -a 2 -f -T -t 2 -m 32768 -i input-4.txt $(which python) program.py

    ท่อน $(which python) จะทำการยัด full path ของ Python ในเครื่องมาให้

    ถ้ารันผ่านควรจะมี output ออกมายาวๆ ว่าโอเค แต่ถ้ารันไม่ทันควรจะขึ้นว่า signal 6 หรือ signal 11 อันใดอันหนึ่ง ส่วนถ้าเวลาเกินก็ขึ้นชัดเจนว่า Time limit exceeded

  • Aldous Huxley – Brave New World

    Brave New World เป็นงานเขียนของอัลดัส ฮักซ์ลีย์ ว่าด้วยอนาคตในปี 632 “ฟอร์ดศักราช” ข้างหน้า
    จุดเริ่มต้นของ “ฟอร์ดศักราช” นั้นนับมาจากความสำเร็จของเฮนรี ฟอร์ด ในการพัฒนารถฟอร์ด โมเดล ที ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตแบบสายพาน

    “โลกใบใหม่ [A (brave) new world]” คือโลกแห่งอุดมคติ ผู้ควบคุมโลก (world controllers) ทั้งสิบคนได้ปกครองโลก “รัฐโลก” (world state) เพื่อสันติสุข
    พันธุวิศวกรรม การปลูกฝังจิตใต้สำนึก และการใช้สารเสพติดชื่อว่า “โซมา” ที่ไม่มีผลข้างเคียง ทำให้โลกใบใหม่ใบนี้เป็น “โลกวิไลซ์”* ที่ผู้คนต่างอยู่อย่างไร้ซึ่งทุกข์

    เบอร์นาร์ด มาร์ซ วิศวกรชนชั้นแอลฟา-พลัส เป็นหนึ่งในตัวละครหลักในเรื่องนี้ เขาเกิดมาบนโลกนี้พร้อมความผิดพลาดบางประการ ทั้งส่วนสูงที่ไม่เท่ากับคนในชนชั้นเดียวกัน และความฉุนเฉียว (ซึ่งผู้คนลือกันว่าเกิดจากความผิดพลาดขณะฟัก ที่พนักงานฉีดยาเผลอฉีดแอลกอฮอล์ซ้ำ ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของเขาสูงกว่าคนปกติ) เพื่อนคนเดียวของเขาคือกวีชื่อเฮลม์โฮลตซ์ วัตสัน ผู้ซึ่งรู้สึกว่าบทกวีของเขาไม่สามารถบรรยายทุกข์ในโลกที่ไร้ซึ่งทุกข์ได้

    นอกเขตปกครองของรัฐโลก เป็นเขตที่ผู้คนในรัฐโลกรู้จักในนามของ “เขตอนุรักษ์พันธุ์ชนชั้นป่าเถื่อน” (savage reservation) ที่ซึ่งผู้คนอยู่อย่างไร้อารยธรรม เกิด แก่ เจ็บ และตาย ไม่มีความสุข ป่าเถื่อนและล้าหลัง
    ที่นั่น มาร์ซได้เจอกับเด็กชายนามว่า “จอห์น” — บุตรอันเกิดจากความผิดพลาดของผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า “ลินดา” ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในรัฐโลก ก่อนที่จะพลัดหลงกับคณะขณะเธอมาเที่ยวเขตอนุรักษ์นี้ ที่นี่ ลินดาตั้งท้องกับชายนามว่า “โทมาคิน” และการที่เธอท้องนั้นเองทำให้เธออับอายกว่าที่จะคิดกลับไปที่รัฐโลก
    ปมหลักของเรื่องนี้เกิดขึ้นเบอร์นาร์ดพาจอห์น และลินดากลับไปที่รัฐโลก ตามคำสั่งของผู้ควบคุมโลก เพื่อศึกษาพฤติกรรมของการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ของมนุษย์

     

    [spoilers ahead]

    สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า Brave New World แตกต่างจากนิยายดิสโทเปียนทั่วไป โดยหลักนั้นเกิดจากการถ่ายทอด ซึ่งเลือกถ่ายทอดผ่านการเข้าไปสู่สังคม “ศิวิไลซ์” ของจอห์น — แตกต่างจากวิธีการเล่าเรื่องโดยทั่วไปของนิยายแนวนี้ ที่มักพูดถึงการพบเจอธรรมเนียมดั้งเดิมก่อนสังคมจะศิวิไลซ์

    การถ่ายทอดแนวคิดของสังคมสมัยเก่าในหลายๆ ส่วน ผ่าน “เขตอนุรักษ์พันธุ์ชนชั้นป่าเถื่อน” ทำให้ภาพของความแตกต่างกันแบบสุดขั้วของสังคมสองสมัยปรากฏขึ้นมาได้พอชัดเจน ภาพของชนเผ่าอินเดียนแดงในเขตอนุรักษ์ฯ และภาพของประชากรโลกใหม่นั้นให้เฉดที่แตกต่างกันมาก (in a high contrast)
    การดำเนินเรื่องในช่วงหลังโดยมีจอห์นซึ่งเป็นมนุษย์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคนสองยุค ทำให้เห็นภาพของความสุตโต่งที่พบในโลกใหม่ ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้โดยผู้ที่อยู่ในระบบสังคมนั้นจนชิน — เป็นการดำเนินเรื่องที่ฉลาด และเฉียบคมอยู่ไม่ใช่น้อย

    ปมของเบอร์นาร์ด มาร์ซตอนต้นเรื่อง แม้ส่วนตัวจะรู้สึกว่ากินระยะเวลานานมากในการพรรณนาก่อนจะถึงปมหลัก (ซึ่งส่วนตัวมองว่าคือเรื่องราวของจอห์น) แต่ภาพของจอห์นในเขตอนุรักษ์ป่าเถื่อน และภาพของมาร์ซในรัฐโลก ก็เป็นภาพที่ทับซ้อนกันอยู่พอสมควร ทั้งคู่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่ตนอยู่ และปมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดมากขึ้นเมื่อภาพของรัฐโลกที่แม่ของจอห์นวาด (portrays) ไว้ให้ช่างต่างจากสิ่งที่เป็นจริงในมุมของเขาเสียเหลือเกิน

    หากนับ We ของซามยาตินเป็นหนึ่งใน “ผู้บุกเบิก” นิยายแนวดิสโทเปียแล้ว งานของฮักซ์ลีย์ก็น่าจะตอบปัญหาของความมีอยู่ของ “รัฐอุดมคติ” ได้ชัดเจนขึ้น แนวคิดหลายๆ อย่าง (เช่น การสั่งสอนของรัฐให้คนทิ้งเสื้อผ้าที่ขาด แทนที่จะซ่อม เพื่อทำให้วงเวียนแห่งอุปสงค์ดำเนินต่อไป) ทำให้รู้สึกว่ารัฐอุดมคตินั้นอยู่บนพื้นฐานของความจริงมากกว่าความเป็นนิยาย

    การอ่านบทเกริ่นนำของเดวิด แบรดชอว์ซึ่งอยู่ตอนต้นของหนังสือ** ทำให้ทราบชัดขึ้นว่า ฮักซ์ลีย์เห็นภาพการเติบโตซึ่งพลังอำนาจของสำรัฐอเมริกา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของลอนดอนและยุโรปในสมัยนั้นซึ่งเป็นยุคถดถอย และเป็นภาพเหล่านี้เองที่ฮักซ์ลีย์หยิบมาถ่ายทอดจนออกมาเป็นส่วนหนึ่งของแก่นของ Brave New World

    ไม่ว่าจะอ่านโดยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของการส่งสาสน์ว่าด้วยความน่ากลัวของโลกดิสโทเปีย, มองเป็นโศกนาฏกรรมของจอห์น, หรือมองว่าเป็นการ “กระแนะกระแหน” สภาพของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น, Brave New World ก็เป็นหนึ่งในนิยายดิสโทเปีย ที่ถึงแม้จะไม่ได้ปลูกภาพของความน่ากลัวแห่งดิสโทเปียไว้ได้เท่ากับ 1984 แต่ก็ทำให้ภาพหลายๆ อย่างของมันชัดเจนและเป็นจริงมากขึ้น (more realistic and vivid).


    * โลกวิไลซ์ ในที่นี้เป็นการเล่นกับชื่อหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย
    ** ฉบับที่จัดพิมพ์โดย Penguin Random House ในชุด Vintage Classic

  • ทัศนะและการตีตรา

    ภาพ: เจอรัลด์ ฟอร์ด อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ (คนขวา) มอบเหรียญรางวัลให้ George Dantzig (คนซ้าย)

    (เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊คส่วนตัว)

    ในปี 1939 นักศึกษาที่ UC Berkeley คนนึงเข้าห้องเรียนสาย เขาพบว่าอาจารย์ทิ้งโจทย์ไว้สองข้อ ก่อนจะเปลี่ยนเรื่องไปสอนอย่างอื่นต่อ
    George Dantzig คือชื่อของนักศึกษาคนนั้น เขากลับบ้านไปทำการบ้านสองข้อนั้นส่งให้อาจารย์ในวันถัดมา ด้วยความรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ยากกว่าปกตินิดนึง

    อันที่จริง “การบ้าน” สองข้อนั้น เป็นโจทย์ปัญหาสถิติที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ได้ และ “วิธีทำ” ของการบ้านข้อหนึ่งก็ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The College Mathematics Journal ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งอเมริกา และกลายเป็นธีสิสจบของ Dantzig เองด้วย

     

    แนวคิดของ “ทัศนะคติบวก” เป็นหนึ่งในเรื่องที่พบได้มากทั่วๆ ไป ตั้งแต่กรณีของ Dantzig ซึ่งทำให้เห็นว่าบางครั้งอุปสรรคต่อการทำอะไรคือเรื่องของความคิดและการรับรู้ (mindset and perception) และแนวคิดคล้ายๆ กันนี้ก็กลายไปอยู่ในแนวคิดของการประทับตรา (labelling) ในสังคมวิทยา

    การประทับตรา (ไม่ได้พูดถึงในแง่สังคมวิทยา) เกิดขึ้นได้ทั่วไป ตั้งแต่การแยกห้องเด็กเก่งเด็กอ่อน ถึงการตราหน้าว่าใครเป็นคนดี คนชั่ว
    บางครั้งการประทับตราที่น่ากลััวที่สุดก็เกิดจากตัวเอง หากเรานิยามตนเองว่าทำไม่ได้ ว่าโง่ ว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคม ในที่สุดแล้วจิตสำนึกและทัศนะส่วนที่ลึกที่สุดก็จะถูกดูดกลืนจากตราที่ตัวเองประทับ

    ส่วนตัวเชื่อว่าตราที่ตัวเองเป็นคนประทับ มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์กว่าตราของคนอื่น เพราะเป็นตราที่เราเชื่อว่าเราเป็นจริงๆ จึงไม่น่าจะปฏิเสธได้ว่า

    บางครั้งการเริ่มเปลี่ยนอะไรในตัวเอง (หรือแม้แต่ในสังคม) ก็เริ่มจากการเลิกประทับตราแง่ลบทั้งหลายใส่ตัวเอง มองโลกตามจริงในแบบที่เป็น (in a neutral way) ถึงจุดนั้นน่าจะเห็นอะไรชัดขึ้นเองว่าเราควรทำอะไร รับรองว่าจะเป็นสิ่งที่สมควรแก่การทำจริงๆ มากกว่าการมานั่งประทับตราตัวเอง

     

    George Dantzig เป็นนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้น Simplex method ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหา linear programming โดยใช้เมทริกซ์ (x, y, z, a, b, p ที่เราเรียนกันตอนมัธยม)

  • George Orwell – 1984

    1984 เป็นหนึ่งในตำนานของงานวรรณกรรม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพและแนวคิดของรัฐดิสโทเปียที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรนั้นช่างชัดเจน (clear and vivid)

    เรื่องราวของ 1984 ถูกเล่าผ่านตัวละครนามวินสตัน สมิธ ผู้ซึ่งทำงานให้กับกระทรวงแห่งความจริง (Minitrue) โดยคอยปรับแต่ง (manipulate) ประวัติศาสตร์ของสื่อสิ่งพิมพ์ให้มีความจริงเพียงความจริงเดียวเท่านั้น

    ████████████████████ ███████████████████████████████████████████████ ██████████████████ ██████████████████████████████████████ ███████████

    ██████████████████████

    ████████████████████████████████████████████████████████████████████████████████████████████ ████████████████████████ █████████████████████████████████████████████████ ████

    ███████████████████████████ █████████████████████████████ ███████████████

    ██████████████████ ████████████████████████████████ ██████████████████████████ ██████████████████████████████████████ ██████████

    โดยสรุปแล้ว 1984 สามารถถ่ายทอดแนวคิดของการมีอยู่ของ “มหารัฐ” ผ่านแง่มุมต่างๆ เช่น████████████, การควบคุม███████ผ่าน███████████และ██████████ รวมถึงแนวคิดแห่งการทำให้คน “ไม่สามารถคิดได้” เช่น █████, █+█=█, ███████████

    ไม่มีข้อกังขาเลยว่าทำไม 1984 จึงเป็นนิยายระดับ “ตำนาน” ภาพของมหารัฐโอเชเนียที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรออกมาสามารถทำให้ผมขนลุกประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชากรแห่งมหารัฐที่กำลังมีความคิดของตัวเอง และเพราะเหตุนี้ผมคงไม่ลังเลที่จะแนะนำว่า 1984 เป็นนิยายที่ทุกคนควรอ่านสักครั้ง (for once in a lifetime)

  • เป็ดน่ากลัว

    เราอาจจะได้ยินการเปรียบเทียบคนที่ทำอะไรหลายๆ อย่างได้เป็น แต่ไม่เก่งจริงๆ สักอย่างว่าเป็นเป็ด
    ว่ายน้ำได้ บินได้ แต่ว่ายก็ไม่คล่อง บินก็ไม่สวย

    วันนี้ระบบส่งงานเก่าของรายวิชาที่เป็น TA มีปัญหานิดหน่อย ช่องทางปกติไม่สามารถส่งงานได้ ก็ใช้เวลาสองสามชั่วโมงในการเขี่ยระบบส่งชั่วคราวมาใช้

    ข้างหลังก็ชุ่ยๆ ใช้ AJAX ยิง request ไปแบบขอไปที ตอนเขียนก็เขียน jQuery ธรรมดา ไม่มีอะไรพิสดาร

    แต่อยู่ดีๆ ก็มานั่งนึกว่าตัวเองน่าจะทำอะไรได้เป็นมากพอในระดับนึง (ถึงแม้จะยังไม่เทียบชั้นคนอื่น) และพอเห็นแล้วว่า “เป็ด” ที่เก่งกว่าเรานี่น่ากลัวขนาดไหน

    โลกนี้บางทีก็อาจจะไม่ได้ต้องการคนเฉพาะทางที่ลงลึกมากขนาดนั้น แต่อาจจะถูกขับเคลื่อนด้วยเป็ดที่ความสามารถตื้น แต่เยอะกว่า ทำงานได้หลายอย่างมากกว่าก็เป็นได้

    ถึงกระนั้นก็ยังไม่นับตัวเองว่าเป็นเป็ด (เพราะกากเกิน :P) และไม่คิดว่าเป็นเป็ดดีจริงๆ อยู่ดี ฮา

    แต่เป็ดที่เก่งน่ากลัวจริงๆ นะ

  • Yevgeny Zamyatin – We

    This is a book to look out for. — George Orwell

    อาจนับได้ว่า We โดย Yevgeny Zamyatin เป็นวรรณกรรมแนวดิสโทเปียชิ้นแรกๆ และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ George Orwell เขียน 1984

    We เล่าเรื่องราวของประชากรรหัส (ciphers) ที่อาศัยอยู่ในมหารัฐ (one state) โดยอยู่ในจุดที่ความสุขทั้งหมดเกิดขึ้นแบบมีตรรกะ หลักการ และอยู่บนความคิดเชิงคณิตศาสตร์ที่ตรงไปตรงมา (rational) มาก
    ตัวเอกของเรื่องซึ่งมีรหัสว่า D-503 เป็นวิศวกรต่อยานอวกาศนามว่าปริพันธ์ (Integral) ที่มีเป้าหมายเพื่อขยายอำนาจของมหารัฐสู่ดาวดวงอื่น

    Zamyatin เป็นวิศวกรต่อเรือ นิยายเรื่องนี้จึงพบความเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อยู่ค่อนข้างมาก (เช่น พูดถึงการใช้อนุกรมเทย์เลอร์มาแต่งเพลงด้วย “ความสวยงามทางคณิตศาสตร์ ที่ดีกว่าศิลปะของพวกมนุษย์โบราณ”)

    หากอ่าน 1984 มาก่อน We จะพบว่าโครงเนื้อเรื่องของนิยายดิสโทเปียอาจจะสามารถเดาได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ We เลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบันทึกของ D-503 ซึ่ง Zamyatin ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปั้นตัวละคนที่มีคตินิยม (ideology) อันจำนนและไม่ขัดขืนต่อรัฐ
    อันที่จริงแล้ว นอกจากความเป็นวิศวกรของ Zamyatin จะพบได้ในหนังสือเล่มนี้ เราอาจพบสังคมรัสเซียในช่วงนั้นสอดแทรกอยู่ด้วยก็เป็นได้ (เพราะ Zamyatin ถูกเนรเทศไปไซบีเรียถึงสองครั้ง)

    ไม่แปลกเลยว่า We นับเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายแนวดิสโทเปียจำพวกโลกหนึ่งอำนาจ แม้รายละเอียดบางส่วนอาจจะไม่ครบครันเท่านิยายรุ่นน้อง แต่ก็สามารถถ่ายทอดภาพของรัฐอำนาจเบ็ดเสร็จในหลายแง่มุมผ่านตัวละครที่ถูกล้างสมองแล้วได้เป็นอย่างดี

    (อ่านจบหลัง 1984 แต่เขียนถึงก่อน 1984 และซื้อมาหลัง Brave New World แต่หยิบมาอ่านก่อน ฮา)

  • ไม่มีอะไรทำให้ไม่คิดถึงคุณ

    เวลาไม่มีอะไรทำให้ไม่คิดถึงคุณ มันก็จะแย่หน่อย

    ตั้งแต่เดินในสถานที่เก่าๆ ที่เดินด้วยกัน คุยประโยคที่เคยคุยถึงคุณกับเพื่อน หยิบจดหมายเก่าขึ้นมาอ่าน นอนตรงฟูกที่ชอบนอนคอลกับคุณ นั่งดูสติ๊กเกอร์แปะโน้ตบุ๊คที่คุณเป็นคนวาด

    เชื่อไหม แม้แต่ตั้งชื่อเซิร์ฟเวอร์ใหม่ กับนั่งเขียนโปรแกรม เรายังคิดถึงคุณเลย

    คุณน่าจะรู้ว่าเราชอบพูดว่า “I can neither confirm nor deny” แต่คุณรู้ไหมว่าคุณคือคนแรกที่กล้าสวนเราว่า “Then I’ll take that as a yes”
    จากที่เคยคิดว่าคุณน่ารักดี แค่นั้นเราก็รู้สึกว่าคุณใช่แล้ว จะมีสักกี่คนที่กล้าสวนเราแบบนี้ และทำให้เราได้พูดตรงๆ ว่าคิดอะไรอยู่

    เมื่อวานเพื่อนพูดประโยคนี้เป๊ะๆ กับเรา เราเข้าใจเลยว่าการเจ็บปวดทางอารมณ์ที่ลามมาถึงความเจ็บปวดทางร่างกาย (physically) มันเป็นยังไง

    ทุกความทรงจำ ทุกเรื่องที่เราทำ มันก็โยงไปหาคุณได้หมดแหละ

    ตลอดเวลาที่มีคุณ เรามีความสุขมากเลยนะ เสียดายที่มันสั้นไปแค่นั้นเอง

    รูปคู่ยังอยู่ในเคสไอแพดและความทรงจำของเรา ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งรอยยิ้ม น้ำตา เสียงเพลง และเสียงร้องไห้ ยังอยู่ในความทรงจำของเราหมด แล้วเรื่องของเราอยู่ในความทรงจำของคุณบ้างไหม

    คุณบอกให้เราเปลี่ยนความเศร้าเป็นงานศิลปะ แต่เรากลับรู้สึกว่าโลกที่ไม่มีคุณมันต่างออกไปเสียเหลือเกิน เราทำงานได้เยอะขึ้น เราอยู่ด้วยตรรกะมากขึ้น สิ่งที่หายไปคืออารมณ์บางอย่าง อย่างน้อยก็อารมณ์ที่ทำให้เขียนบล็อกได้เป็นวรรคเป็นเวร

    ความรู้สึกเดียวที่รู้สึกได้จริงๆ คือเหงา และคิดถึง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เราจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าเรายิ้มเท่าตอนมีคุณบ้างหรือเปล่า

    เคยบอกใครหลายคนไว้ว่าถ้าติ่มซำกับหมูกรอบเรามันอร่อยเราก็อยู่คนเดียวได้ แต่มันไม่อร่อยแล้ว

    คิดถึงแหละ แต่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิดถึงด้วยซ้ำในความจริง

    อยู่ตรงนั้นขอให้คุณมีความสุขนะ

  • Haruka Murakami – Norwegian Wood

    Norwegian Wood (ฉบับแปลไทย: ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) เป็นนิยายของ Haruka Murakami เล่าเรื่องผ่านบันทึกของตัวละคนชื่อโทรุ ณ ช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

    โทรุตกหลุมรักนาโอโกะ อดีตแฟนสาวของคิซุกิ — เพื่อนสนิทของทั้งคู่ที่จากไปก่อนเวลาอันควร — การเลือกทางเดินชีวิตของนาโอโกะ และสังคมในมหาวิทยาลัยของโทรุ ต่างก็เป็นตัวกำหนดทิศทางของทางเดินชีวิต สังคม ความสัมพันธ์ และการกระทำของทั้งสอง

    ตัวนิยายเรียบเรียงมาโดยให้ความรู้สึกเหมือนอ่านอัตชีวประวัติ (autobiography) ของโทรุเสียมาก ต้นเรื่องเปิดมาด้วยการบรรยายปัจจุบันของโทรุ ก่อนเขาจะค่อยๆ เล่าย้อนอดีตไปทีละช้าๆ

    ส่วนตัวไม่ได้อ่านนิยายนานมากแล้ว (โดยเฉพาะนิยายรัก) จึงไม่สามารถพิจารณาและวิพากษ์งานเขียนได้ดีสักเท่าไหร่ (รวมถึงพูดไม่ออก) แต่หากต้องกล่าวอะไรสักเล็กน้อย ตัวนิยายทำออกมาได้ดีในการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละคร ผ่านความรู้จัก ความผูกพัน เซ็กส์ ความรัก และความตาย ได้อย่างมีชั้นเชิงอยู่ทีเดียว

    ตั้งใจว่าหากมีเวลาว่างจะกลับมาอ่านให้ละเอียดอีกรอบหนึ่ง

    Letters are just pieces of paper. Burn them, and what stays in your heart will stay; keep them, and what vanishes will vanish.

  • คงมีแต่คำว่าขอโทษ

    เราไม่มีทางรู้เลยว่าการกระทำใดของเราที่เรามุ่งเจตนาสื่อสารบางอย่าง ผู้รับสารนั้นจะตีสารนั้นเหมือนที่ผู้ส่งสารส่งออกไปไหม

    การพูดสนทนามีสาสน์มากกว่าตัวข้อความเอง  — น้ำเสียง วาจา สีหน้า — สิ่งเหล่านี้ถูกทอนทิ้งผ่านการส่งข้อความ
    หรือแม้แต่การตีความน้ำเสียงและสีหน้า ก็ย่อมเป็นปัจเจก คือขึ้นอยู่กับบุคคล

    นับประสาอะไรกับการกระทำ? เรามั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นจะสื่อสารไปถึงผู้รับจริงๆ ตามที่เราเจตนา
    หากสาสน์ที่เราส่งไปกลายเป็นความอึดอัดใจ ความไม่สบายใจ คงไม่ใช่เพียงเธอที่รู้สึกแย่ แต่คงเป็นทั้งสองฝ่าย — คงเป็นเราที่ทำร้ายเธอทางอ้อมด้วย

    เมื่อความพยายามแสดงความจริงใจกลายเป็นการคุกคามในสายตาอีกฝั่ง ความอึดอัดย่องเกิดขึ้นแบบเลี่ยงไม่ได้ และคงเป็นความอึดอัดที่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องถอยหนี

    ไม่ว่าเจตนาจะเป็นอย่างไร ความอึดอัดใจที่ก่อขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งก็ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปไม่ใช่น้อย ความรู้สึกนี้ไม่เคยมีผลดีต่อใคร

    เมื่อนั้น คงมีแต่คำว่าขอโทษ

    ถ้าเธออ่านอยู่ เราขอโทษนะ เราขอให้เธอมีความสุขมากๆ นะ