Loving Vincent

(ย่อหน้าสุดท้ายเป็นสรุป)

เรียนตามตรงว่าผมไม่ใช่คนชอบดูหนัง ยิ่งการเขียนรีวิวหนังยิ่งไม่ใช่จริตที่ผมพึงกระทำเลย
Loving Vincent คงเป็นข้อยกเว้น — ด้วยโปรดักชั่นที่เกิดจากการวาดภาพมากกว่าหกหมื่นหกพันเฟรมก่อนนำมาต่อกันเป็นภาพยนตร์ยาวชั่วโมงครึ่ง ผมอาจนับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็น “อาร์เรย์ของงานจิตรกรรม” ที่ถูกกระพริบใส่ตาผมมากกว่าเป็นภาพยนตร์ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีวิธีใดที่จะ “เชิดชู” ฟาน กอกฮ์ ได้ดีกว่าการถ่ายทอดชีวิตของเราออกมาผ่านภาพวาดในแบบที่เป็นเขามากที่สุด

แน่นอนว่าด้วยความที่หนังเรื่องนี้อุทิศให้กับฟาน กอกฮ์ ผู้กำกับจึงเลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านภาพเขียนต้นฉบับของเขาได้อย่างชาญฉลาด
ภาพวาด Starry Night (อันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นงานเขียนอมตะกาลของเขา), ภาพของคุณหมอกาเชต์ และภาพวาดตัวเองของฟาน กอกฮ์ (ฉบับปี 1989) ยามปรากฏในหนัง ทำให้ผมขนลุกได้ไม่ยาก

การเล่าเรื่องทำได้อย่างกระชับ การถ่ายทอดกระแสอารมณ์ของศิลปินที่เลือกอัตนิวิบากกรรม ผ่านการเลือก “สัมภาษณ์” ตัวละครในชีวิตของฟาน กอกฮ์ เป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ถือว่าไม่เลว ยิ่งเมื่อได้มองว่าคนรอบข้างของเขาเลือกที่จะจดจำเขาในภาพที่ต่างกันไป มุมมองชีวิตของเขาต่างกันไปปากต่อปาก
ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงที่ออกจากโรงหนังค่อนข้าง “ตัน” กับความรู้สึก เพราะโดนการกระทบทางอารมณ์ (emotional impact) จากตัวภาพยนตร์ไปไม่น้อย)

โดยสรุปแล้ว Loving Vincent เป็นหนังที่เล่าและถ่ายทอดเรื่องราวของฟาน กอกฮ์ ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งในแง่ของตัวเรื่อง วิธีการถ่ายทอด และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือตัวสื่อที่เลือกถ่ายทอดออกมาอย่างฉลากและเฉียบคม
น่าจะไม่มีภาพยนตร์ไหนที่ว่าด้วยเขา จะสามารถถ่ายทอดความเป็นฟาน กอกฮ์ ออกมาได้เท่านี้แล้ว

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *